สัมมนา “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป”

สัมมนา “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป”

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,037 view

สัมมนา “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป”

          เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “เข้าใจ Brexit         พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป” เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงสถานการณ์ล่าสุด และการเตรียมความพร้อมของไทย รวมถึงแผนการทำงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่จะนำมาใช้รองรับกรณีที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแผนการทำงานรับมือ 4 ด้าน คือ (1) เจรจากับสหภาพยุโรปและ     สหราชอาณาจักร ในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) เพื่อแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้ WTO (2) จัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร (Trade Policy Review: TPR) เพื่อศึกษาภาพรวมการค้าระหว่างสองฝ่าย (3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ       สหราชอาณาจักร และ (4) ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักเรื่อง Brexit และการเตรียมความพร้อมของไทย

          ภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย นาย Simon Lever ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูต                       สหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหราชอาณาจักรเองได้ส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย ระบอบการค้าโลก        คือการค้าเสรี ลดความยากจน เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำงานในประเทศให้กับคู่ค้าประเทศอื่นมาโดยตลอดรวมถึงประเทศไทย อีกทั้ง สหราชอาณาจักรยังเป็นประเทศคู่ค้าที่ดีกับไทย โดยมองว่า ไทยมีจุดเด่นทางด้านภาคบริการและอาหาร แต่สหราชอาณาจักรต้องการที่จะให้ไทยมีความร่วมมือในด้านอื่น ๆ มากกว่านี้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และมองว่าเหตุการณ์ Brexit จะมีผลกระทบในวงจำกัดเท่านั้น อีกทั้งนาย Simon ยังกล่าวถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่จะกระทบต่อการเจรจาการค้าของสหราชอาณาจักรกับไทย ได้แก่ COVID-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และปัญหาเรื่องงบประมาณของสหภาพยุโรป

          ในส่วนของการบรรยายพิเศษ โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้แทนสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council: TUBLC) เห็นว่า สหราชอาณาจักรจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จะมีการเจรจาการค้าใหม่กับประเทศอื่น ๆ เพราะก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักรต้องทำการค้าขายในนามของสมาชิกสหภาพยุโรปและมองว่าไทยนั้น ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเหตุการณ์นี้ อีกทั้ง สหราชอาณาจักรยังมีจุดเด่น คือ เทคโนโลยี เช่น ด้านธุรกรรมทางการเงินที่จะหาเครือข่ายในตลาดใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อไทย และยังกล่าวอีกว่า สหราชอาณาจักรจะต้องผูกความสัมพันธ์การค้าใหม่กับสหภาพยุโรปให้ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือนถัดจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองว่าเป็นเพียงแค่การไปเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ควรปรับแนวคิดการทำธุรกิจเสียใหม่ เพราะปัจจุบันคู่แข่งมีจำนวนมากขึ้นไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการไทยเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยควรมองถึงรูปแบบการค้าแบบใหม่อย่าง E-commerce ที่จะช่วยในการลดต้นทุนสร้างบุคลากรที่มีทักษะมากขึ้นให้มีความคล่องตัวทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเป็นดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล Thailand 4.0 เน้นย้ำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการต้องรีบปรับเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจก่อนที่จะสายไป ปัจจุบันแม้ว่า ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับสหราชอาณาจักร แต่ในระยะกลางและยาวอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยุทธศาสตร์การค้าของไทยยังคงไม่ทันโลกสมัยใหม่

          นอกจากนี้ การเสวนาโดยผู้แทนจากภาครัฐ กรมยุโรปให้ความเห็นว่า สหราชอาณาจักรและไทยเป็นประเทศคู่เจรจา        ที่สำคัญระหว่างกัน มีการหารือพบปะกันของตัวแทนในทุกระดับของทั้งสองประเทศ ภายหลังที่มีการประกาศผลลงประชามติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งสหราชอาณาจักรเองก็มองว่าไทยเป็นสะพานสู่อาเซียน เนื่องจากความพร้อมและตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ภาครัฐมุ่งที่จะจัดทำ FTA กับสหราชอาณาจักร โดยมีความพยายามส่งเสริมการตลาดของธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารของไทยที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติและสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ การลงทุนของไทยในสหราชอาณาจักรยังมีไม่มากนัก มีเพียงด้านบริการและธุรกิจอาหารที่เป็นการลงทุนที่สำคัญ แต่สหราชอาณาจักรต้องการให้ไทยมีการลงทุนในด้านอื่น ๆ เหมือนกับที่นาย Simon ได้กล่าวไว้ในข้างต้นของการสัมมนา

          ด้านการลงทุนภายในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ซึ่งรับผิดชอบดูแลในส่วนนี้ กล่าวว่า การลงทุนของสหราชอาณาจักรยังมีไม่มากนัก เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น ตลาด โครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนการผลิต อุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นต้น แต่เหตุการณ์ Brexit จะเป็นแรงกระตุ้นให้สหราชอาณาจักร      เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลงทุนจากสหราชอาณาจักรในเรื่องของการแพทย์และยาผ่านโครงการ Newton Fund ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง นักวิทยาศาสตร์ไทยและสหราชอาณาจักร การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การลงทุนทางด้านดิจิทัล โครงข่าย 5G ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งสหราชอาณาจักรเองหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีในภูมิภาค

          ในส่วนของผู้แทนจากภาคเอกชน โดยนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยมองว่า การเจรจาการค้ากับสหราชอาณาจักรเป็นเรื่องที่พึงกระทำเพราะการเจรจากับสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มราบรื่นกว่าการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรปที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด 27 ประเทศ โดยหากประเทศหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรปไม่เห็นด้วย      ก็จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ดังนั้น จึงควรที่จะเจรจากับสหราชอาณาจักรให้ลุล่วงเสียก่อนภายในสิ้นปี 2563 นี้ อีกทั้ง         ยังเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเจรจาให้เร็วที่สุด โดยได้นำเสนอแนวทางในการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรลงเหลือร้อยละ 0-5 แต่ก็ยังมีความห่วงกังวลในเรื่องสิทธิบัตรและยาที่อาจจะกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลของคนไทย ส่วนเรื่องการส่งออกสินค้าเครื่องประดับของไทยนั้น นายกสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยได้ระบุว่า แม้เครื่องประดับจะสร้างมูลค่าการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยในสหราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก (มูลค่าการค้า 7,173 ล้านบาทในปี 2562 ) แต่ยังติดปัญหาเรื่องของกำแพงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับสินค้าเครื่องประดับโดยคิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งหากไทยมีการเจรจากับสหราชอาณาจักรก็อยากจะให้ลดภาษีในส่วนนี้ รวมถึงการที่ต้องผ่านมาตรฐานของสหภาพยุโรป เช่น การปนเปื้อน                สารโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล แคดเมียม และตะกั่ว รวมทั้งมาตรฐานแรงงานที่ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็กและไม่มีการบังคับแรงงานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าว ถือเป็นมาตรการการค้าที่มิใช่ภาษีที่ภาคเอกชนของไทยอยากจะให้มีการผ่อนปรนในเรื่องนี้ด้วยหากมีการเจรจา FTA ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร

          อย่างไรก็ดี การสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้กล่าวถึงผลกระทบของการเจรจา FTA ระหว่างไทย-สหราชอาณาจักรหลังเหตุการณ์ Brexit ต่อสินค้าเกษตรของไทยในภาคใต้ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และสินค้าประมง ที่ปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องราคาสินค้าตกต่ำ เนื่องจากสหราชอาณาจักรเองนั้นก็มีความโดดเด่นทางด้านการทำประมงในบริเวณทะเลเหนือ อีกทั้ง สินค้าสองอย่างแรก (ปาล์มน้ำมัน ยางพารา) ก็ไม่ได้ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรมากนัก จึงควรมีการเจรจาในเรื่องของสินค้าดังกล่าวกับ               สหราชอาณาจักรด้วย หากไม่มีการนำเรื่องนี้ไปเจรจานับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับฝ่ายไทยที่เป็นคู่เจรจา

          นอกจากนี้ การสัมมนาในครั้งนี้มีเพียงภาคเอกชนธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีส่วนร่วมผ่านการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคเอกชนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมหรือบทบาทในการแสดงความคิดเห็นมากนัก ทั้งนี้ หากการจัดทำความตกลง FTA ไทย-สหราชอาณาจักร บรรลุผลแล้ว จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไทยหรือไม่ (เนื่องจากอาจโดนแทนที่ด้วยสินค้าที่นำเข้าจากสหราชอาณาจักร) และไทยเองยังไม่มีมาตรการคุ้มครองสินค้าทางเกษตรให้แก่ผู้ผลิตเพื่อรองรับภายหลังจากการจัดทำความตกลง FTA ไทย-สหราชอาณาจักร ดังนั้น เราจึงควรทำการศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของ FTA ไทย-สหราชอาณาจักร และจัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

****************

          จัดทำโดย

นายอนัส อาลีมะสะ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

18 มีนาคม 2563