แผนการออกมาตรการภาษีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดนใหม่ของสหภาพยุโรป

แผนการออกมาตรการภาษีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดนใหม่ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 661 view

แผนการออกมาตรการภาษีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดนใหม่ของสหภาพยุโรป

          เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 สถาบัน The European Centre for International Political Economy ได้จัดเสวนาในหัวข้อ Trade and Climate Change – Could Border Carbon Adjustment (BCA) Work? ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนการออกมาตรการภาษีเกี่ยวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดนใหม่ของสหภาพยุโรป โดยมีนาย Sam Lowe นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Centre for European Reform นาง Sandra PARTHIE ผู้อำนวยการสถาบัน Cologne Institute for Economic Research และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Saarland ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ร่วมอภิปราย

          นาย Sam Lowe นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Centre for European Reform กล่าวว่า แนวคิดการออกมาตรการปรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustment – BCA) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากท่าทีของสหภาพยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เพื่อจัดการกับสภาวะโลกร้อน และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม World Economic Forum ณ เมือง Davos สมาพันธรัฐสวิส ว่าจะพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวในวงกว้างมากขึ้น เพื่อตอบโต้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างแรงผลักดันทางการเมืองที่สำคัญของสหภาพยุโรปเพื่อบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน เร่งจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนให้มากขึ้น

           ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อออกมาตรการ BCA ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่เป็นไปได้ คือ การจัดเก็บอากรขาเข้าพิเศษหรือภาษีอื่น ๆ สำหรับสินค้าที่มีการใช้พลังงานในการผลิตสูง หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง (carbon-intensive products) รวมถึงการกำหนดให้ผู้นำเข้าซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission allowance) ที่กำหนดขึ้นในสหภาพยุโรป ในกรณีที่เป็นการนำเข้าสินค้ามาจากประเทศที่ไม่มีมาตรการหรือนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปด้วย

           นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบัน Cologne Institute for Economic Research คาดว่า มาตรการภาษีที่สหภาพยุโรปอาจนำมาใช้นั้น มีแนวโน้มจะอยู่ในรูปแบบของภาษีศุลกากรมากกว่าการจัดเก็บภาษีประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องอาศัยมติเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศในกระบวนการให้ความเห็นชอบ และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกในกลุ่มยุโรปตะวันออกบางประเทศที่ยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงหลัก

           แม้มาตรการ BCA จะสามารถตอบโจทย์ ๒ ประการของสหภาพยุโรป คือ (๑) ช่วยให้การแข่งขันทางการค้ามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น (ในด้านต้นทุนการกำจัดมลพิษ) และ (๒) เป็นการป้องกันปัญหาการรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon leakage) แต่ก็อาจถูกมองว่า เป็นมาตรการสิ่งแวดล้อมเพื่อกีดกันทางการค้าซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทและการตอบโต้ทางการค้าตามมาได้ ดังนั้น การออกแบบมาตรการการปรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปจึงต้องปฏิบัติตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของมาตรการ BCA เช่น การปฏิบัติต่อสินค้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน และหลักปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ (National Treatment) โดยเน้นความโปร่งใสและให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และควรพิจารณายกเว้นสำหรับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระที่มากเกินควรแก่ประเทศและภาคส่วนที่ไม่มีความพร้อม

          อย่างไรก็ดี นาง Sandra PARTHIE ผู้อำนวยการสถาบัน Cologne Institute for Economic Research ได้เสนอแนะให้ใช้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) เป็นเครื่องมือในการผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายให้เป็นไปในทิศทางที่สหภาพยุโรปต้องการ โดยวางเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสินค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องติดฉลาก carbon footprint เพื่อเปิดเผยข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซ   ดังกล่าว จากกิจกรรมต่าง ๆ ในสายการผลิต

          อนึ่ง การยกร่างมาตรการ BCA คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๔ โดยมีแนวโน้มว่ามาตรการนี้จะบังคับใช้กับสินค้าบางประเภทก่อน เช่น ซีเมนต์และเหล็ก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรายการสินค้าชัดเจน เนื่องจากจะต้องผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจก่อน ทั้งนี้ มีความจำเป็นที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยต้องเฝ้าระวังแนวโน้มสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่อาจเข้าข่ายของมาตรการดังกล่าว

          นอกจากนี้ ในปัจจุบันความตกลง FTA ที่สหภาพยุโรปเจรจากับประเทศต่าง ๆ นั้นมีการเพิ่มข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) อยู่ด้วย อาทิ ความตกลง FTA สหภาพยุโรป – Mercosur ที่ได้มีการกำหนดให้คู่ภาคีปฏิบัติตามความตกลงปารีสในขณะที่ความตกลง FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม มีพันธกรณีเพิ่มเติมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการกำหนดราคาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และตลาดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและท่าทีของฝ่ายสหภาพยุโรปที่จะกำหนดพันธกรณีเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการติดฉลาก carbon footprint ด้วย ดังนั้นราคาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ฝ่ายไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ต่อไป

 

*****************************