ความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank - ECB)

ความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank - ECB)

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 911 view

ความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางยุโรป

(European Central Bank - ECB)

          จากรายงานของธนาคารกลางยุโรปและสื่อมวลชนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสนับสนุนการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางยุโรปนั้น ธนาคารกลางยุโรปเองอาจสนับสนุนให้ธนาคารต่าง ๆ ของเขตประเทศในเขตยูโรออกสกุลเงินดิจิทัลเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและการชำระเงิน หากการชำระเงินภายในเขตยูโรยังคงมีต้นทุนที่สูงและมีแนวโน้มของการใช้เงินสดที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเงินที่พัฒนาเพื่อตอบสนองต่ออุปนิสัยการใช้จ่ายเงินของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปและวิถีสังคมไร้เงินสดที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้เงินสดในเขตยูโรยังคงเป็นที่นิยมและมีสัดส่วนการใช้ที่มาก

          นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป มองว่า ยุโรปควรจะพัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับการค้าปลีกรูปแบบใหม่ (front end)    ณ จุดขายและออนไลน์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพและบูรณาการตลาดการชำระเงินในยุโรปต่อยอดจากระบบบริหารจัดการและสนับสนุนข้อมูลทางการเงิน (back end) ของธนาคารกลางยุโรป ได้แก่ ระบบ Single Euro Payments Area (SEPA) รวมไปถึงระบบ Target Instant Payment Settlement (TIPS) ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งช่วยให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ทั่วยุโรปนั้น สามารถส่งและรับเงินได้ทันทีแบบ real time โดยคิดค่าใช้จ่ายเพียง 0.002 ยูโร/ธุรกรรม ทั้งนี้ ข้อริเริ่มด้านการชำระเงินสำหรับการค้าปลีกรูปแบบใหม่จะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้ (1) สามารถเข้าถึงลูกค้าทั่วยุโรปและไม่กระทบต่อระบบการดำเนินธุรกรรมที่เป็นอยู่ (2) สะดวกและมีความคุ้มค่าด้านต้นทุน (3) มีความปลอดภัยและความมั่นคง (4) มีคุณลักษณะเฉพาะและการกำกับดูแลโดยธนาคารกลางยุโรป และ (5) ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก        ในระยะยาว

          อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางยุโรป จะดำเนินการวิเคราะห์และประเมินอย่างต่อเนื่องว่า สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency - CBDC) จะเป็นประโยชน์และตอบสนองประชาชนในเขตยูโรมากที่สุดหรือไม่ โดยจะต้องคำนึงถึงประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ (1) สถานะทางกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (2) สร้างความมั่นใจต่อประชาชนในการใช้จ่ายทดแทนเงินสด (3) ผลกระทบต่อระบบการเงินปัจจุบัน (4) ผลกระทบด้านการใช้นโยบายการเงินควบคุมระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) และ (5) ผลกระทบต่อบทบาทของภาคการธนาคาร ทั้งด้านการปล่อยสินเชื่อและการระดมทุนของธนาคาร เป็นต้น ทั้งนี้ การพิจารณาต่าง ๆ จะอยู่บนพื้นฐานที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวิธีการชำระเงินที่ประหยัดและสะดวกรวดเร็ว และไม่กระทบกับแนวทางการชำระเงินสำหรับการค้าปลีกของภาคเอกชนที่ดำเนินการอยู่โดยธนาคารกลางยุโรปอาจพิจารณาใช้วิธีการให้ประชาชนเปิดบัญชีสกุลเงินดิจิทัลโดยตรงกับธนาคารกลางยุโรปหรือให้ธนาคารพาณิชย์เป็นสื่อกลางในการรับเงินสดอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารกลางยุโรปเพื่อส่งต่อให้กับลูกค้าธนาคารต่อไป

           นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 สภายุโรปและกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมในเรื่อง “Stablecoins”    ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล โดยเป็นข้อริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการชำระเงินสำหรับการค้าปลีกข้ามพรมแดน ด้วยการสร้างสร้างระบบนิเวศสำหรับการชำระเงินรูปแบบใหม่ที่ประหยัดและรวดเร็วกว่าสำหรับสถาบันทางการเงินและระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี “Stablecoins” ยังไม่ได้มีการทดสอบในขอบเขตที่กว้างขวางมากเพียงพอและยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาทิ การคุ้มครองผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัว การชำระภาษี การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความยืดหยุ่นของการดำเนินการ การฟอกเงิน และการสนับสนุนเงินทุนต่อการก่อการร้าย เป็นต้น รวมไปถึงแนวโน้มความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นกับอธิปไตยทางการเงิน นโยบายการเงิน ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพทางการเงิน และการแข่งขันที่ยุติธรรมอีกด้วย

          อย่างไรก็ดี คณะทำงานของ G7 ว่าด้วยเรื่อง “Stablecoins” ได้เสนอแนะว่า ยังไม่ควรเริ่มดำเนินโครงการ “Stablecoins” จนกว่าความเสี่ยงและข้อกังวลทั้งหมดเหล่านี้จะได้รับการหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการออกกฎระเบียบและวิธีการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับความเสี่ยง ซึ่งการขาดข้อมูลที่เพียงพอส่งผลให้ยากต่อการหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะใช้กรอบการกำกับดูแลของสหภาพยุโรปที่มีอยู่ หรือไม่ อย่างไร โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นควรอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน นอกจากนี้ สภายุโรปและกรรมาธิการยุโรปจะทำงานร่วมกับธนาคารกลางยุโรปและหน่วยงานด้านการกำกับดูแลทั้งในระดับชาติและยุโรปอย่างใกล้ชิด

          ทั้งนี้ แนวคิดการออกสกุลเงินดิจิทัลสาธารณะของยุโรปเริ่มขึ้นหลังจากที่ Facebook ได้ประกาศโครงการออกสกุลเงินดิจิทัล “Libra” เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสกุลเงินของโลก (global currency) ซึ่งสร้างความห่วงกังวลให้กับธนาคารกลางต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป เนื่องจากเขตยูโรไม่มีระบบการชำระเงินสำหรับการทำธุรกรรมค้าปลีกที่รวดเร็วให้และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก 28 ประเทศ เป็นของตนเอง และยังพึ่งพาระบบบัตรเครดิตของบริษัทตัวกลางในการชำระเงินซึ่งได้รับการยอมรับทั่วโลก เช่น Visa Mastercard และ American Express เพื่อชำระเงินระหว่าง     ร้านค้ากับสถาบันการเงิน

          ก่อนหน้านี้นาย Mario Draghi อดีตประธานธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านการออกสกุลเงินดิจิทัลของ ECB แต่จากบริบททางการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แนวคิดสนับสนุนการออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางถูกให้ความสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะจากผู้ว่าการธนาคารกลางฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่เรียกร้องให้ ECB และธนาคารกลางชาติอื่น ๆ    ในยุโรปพิจารณาเรื่องดังกล่าว

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 นาง Cristine Lagarde ประธาน ECB แถลงว่า ECB จะเร่งดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2563 และให้ความเห็นว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ วัตถุประสงค์ของเงินดิจิทัล อาทิ เพื่อลดต้นทุน ลดตัวกลางทางการเงินหรือเพื่อการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) จากนั้นจึงพิจารณาด้านเทคนิคต่าง ๆ ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการการเงินของ ECB ที่มีอยู่แล้ว เช่น ระบบ Single Euro Payments Area (SEPA) รวมไปถึงโครงการ Pan-European Payment System Initiative (PEPSI) ซึ่งธนาคารกลางชาติยุโรป 20 แห่ง กำลังพิจารณาร่วมกันสร้างระบบการชำระเงินสำหรับการค้าปลีกรูปแบบใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระผ่าน Visa Mastercard  Google pay และ Apple pay

          ทั้งนี้ นาง Lagarde ซึ่งถือเป็นนักบริหารการเงินที่มีแนวคิดก้าวหน้าอีกทั้งในช่วงของการดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund – IMF นั้น นาง Legarde ยังได้แสดงความเห็นที่ไม่ปิดโอกาสการสนับสนุนให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ออกสกุลเงินดิจิทัลเพื่อเพิ่มบทบาทของรัฐในการผลิตเงินเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า สกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากนัก ดังนั้น จึงควรศึกษาและวิเคราะห์ผลได้ผลเสียด้วยความระมัดระวังอย่างจริงจังและสร้างสรรค์

************************************************

จัดทำโดย นายอนัส อาลีมะสะ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

24 มกราคม 2563