สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำฤดูใบไม้ร่วง ๒๕๖๒

สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำฤดูใบไม้ร่วง ๒๕๖๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 626 view

สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ประจำฤดูใบไม้ร่วง ๒๕๖๒

เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปได้เผยแพร่รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปประจำฤดูใบไม้ร่วง ๒๕๖๒ (สามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ทางเว็บไซต์ http://bit.ly/2NrNrxn) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ ๑.๑ ในปี ๒๕๖๒ และร้อยละ ๑.๒ ในปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ซึ่งลดลงจากประมาณการณ์เดิมร้อยละ ๐.๑  ในปีนี้และร้อยละ ๐.๒ ในปี ๒๕๖๓ สำหรับการขยายตัวโดยเฉลี่ยของสหภาพยุโรปทั้ง ๒๘ ประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๑.๔ ต่อปีระหว่าง ๒๕๖๒-๒๕๖๔ โดยตัวเลขปี ๒๕๖๓  ลดลงจากประมาณการณ์เดิมร้อยละ ๐.๒

อัตราการว่างงาน การจ้างงานทั่วยุโรปฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ การจ้างงานในยูโรโซนที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์โดยเหลือเพียงร้อยละ ๗.๖ ในปีนี้และจะลดลงเป็น ๗.๔ ในปี ๒๕๖๓ และร้อยละ ๗.๓ ในปี ๒๕๖๔ ส่วนอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งสหภาพยุโรปจะลดเหลือร้อยละ ๖.๓ ในปีนี้และคงตัวที่ร้อยละ ๖.๒ ในปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔

อัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขของยูโรโซนลดลงจากราคาพลังงานที่ลดลง กอปรกับบริษัทต่าง ๆ เลือกที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายจากค่าจ้างที่สูงขึ้นแทนการผลักภาระให้ลูกค้า โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนจะอยู่ที่ระดับร้อยละ ๑.๒ ในปีนี้และปีหน้า โดยอาจเพิ่มเป็นร้อยละ ๑.๓ ในปี ๒๕๖๔ ส่วนค่าเฉลี่ยทั้งสหภาพยุโรปคาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ ๑.๕ ในปีนี้และปีหน้า โดยอาจเพิ่มเป็นร้อยละ ๑.๗ ในปี ๒๕๖๔

หนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณ คาดว่า หนี้สาธารณะจะลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ ๕ ในขณะที่การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้น โดยหนี้สาธารณะของยูโรโซนอยู่ในระดับร้อยละ ๘๖.๔ ของ GDP ในปีนี้ และจะลดเหลือร้อยละ ๘๕.๑ และร้อยละ ๘๔.๑ ในปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ ส่วนการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าลงและนโยบายทางการคลังที่ไม่มีวินัยของบางประเทศสมาชิกโดยประเทศในยูโรโซนจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๕ ของ GDP ในปี ๒๕๖๑ เป็นร้อยละ ๐.๘ ในปีนี้ และเพิ่มถึงร้อยละ ๐.๙ และร้อยละ ๑.๐ ในปี ๒๕๖๓ และ ๒๕๖๔ สำหรับค่าเฉลี่ยทั้งสหภาพยุโรปคาดว่าการขาดดุลจะอยู่ที่ระดับร้อยละ ๐.๙

ข้อสรุป ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหภาพยุโรปคือความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่สร้างความไม่แน่นอนด้านการค้า การลงทุน และการผลิต ซึ่งก่อให้เกิด  การชะลอตัวและความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในอนาคตจะต้องพึ่งพาปัจจัยภายในมากขึ้น อาทิ ตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง ตลอดจนนโยบายและมาตรการทางการคลังของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ภาพรวมความเสี่ยงจากสถานการณ์ทั่วโลก อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการพิจารณาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร    และความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของสหภาพยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ

 

*****************************************