ไทย-สหภาพยุโรป FTA: ความหวังสดใส ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ไทย-สหภาพยุโรป FTA: ความหวังสดใส ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,623 view

ไทย-สหภาพยุโรป FTA: ความหวังสดใส ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจีน และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ดังที่เห็นได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดเม็ดเงินและการลงทุนกลับเข้าประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurozone) รวมถึงปัจจัยภายในของไทยเองที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้หลายหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีของไทยลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 4%

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดังกล่าว การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปกว่า 6 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2557 ดูจะมีความหวังมากขึ้นเมื่อสหภาพยุโรปได้ส่งสัญญาณขานรับการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้อมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เมื่อปี 2557 ระบุไว้ว่า สหภาพยุโรปจะเริ่มเจรจาความตกลง FTA กับไทยอีกครั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งต่อมาเมื่อปลายปี 2560 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ปรับข้อมติให้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทยภายหลังความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560

ดังนั้น ปัจจุบันจึงถือได้ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ เอื้อต่อการรื้อฟื้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งในฝั่งของสหภาพยุโรปเองก็เพิ่งได้คณะผู้บริหารชุดใหม่จากเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม โดยนโยบายของคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปีนี้ จะมีความหมายต่ออนาคตของสหภาพยุโรปและทิศทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

โอกาสของไทยจากความตกลงไทย-สหภาพยุโรป FTA

การเจรจาความตกลง FTA ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดสหภาพยุโรปที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สหภาพยุโรปมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม       ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

ประโยชน์อันดับแรกของความตกลง FTA ฉบับนี้คือการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ที่ปัจจุบันไม่มีแต้มต่อทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งบางประเทศ เช่น เวียดนาม หลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อปี 2558 นอกจากนี้ ความตกลง FTA จะช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์    และยานยนต์ โดยหากการเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจากประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับไทยและมี FTA กับสหภาพยุโรป เช่น เวียดนาม

นอกจากนี้ ความตกลง FTA ฉบับนี้ ยังมีประโยชน์ในแง่การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ know-how ต่าง ๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทสหภาพยุโรปในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสหภาพยุโรปมีความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งจะเป็น   แม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมที่มีความเสี่ยงจะย้ายการลงทุนไปที่อื่น และดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างสหภาพยุโรปได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับ 3 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งในจำนวนนี้ ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหภาพยุโรป 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 5% และ 8% จากปี 2560 ตามลำดับ ด้านการลงทุน สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของไทยรองจากญี่ปุ่นและอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุนในไทย ณ สิ้นปี 2561 รวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ดี การเจรจาความตกลง FTA ไทย-สหภาพยุโรป อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลา โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงไทย- สหภาพยุโรป FTA    มีดังนี้

1. การทำความตกลง FTA กับสหภาพยุโรป จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำความตกลงการค้าเสรีของไทยโดยเฉพาะประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าข้อบทใหม่ที่สหภาพยุโรปใช้ในการเจรจาความตกลง FTA กับประเทศต่าง ๆ ในระยะหลัง คือ ข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงาน ทั้งนี้ คาดว่าสหภาพยุโรปจะใช้ความตกลง FTA กับสิงคโปร์และเวียดนาม
ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และมิถุนายน 2562 ตามลำดับ เป็นต้นแบบในการเจรจากับไทย

ซึ่งจากการสังเกตการเจรจาความตกลง FTA ระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนามและสิงคโปร์ พบว่าเนื้อหาการเจรจามีรายละเอียดและครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเจรจาใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้น รวมทั้งอาจเพิ่มแรงกดดันให้ไทยต้องยอมรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปทั้งในเรื่องการเปิดตลาดยา รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหภาพยุโรปที่มีความเข้มงวดมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ การเจรจายังรวมถึงเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของสหภาพยุโรป รวมทั้งกฎระเบียบด้านการแข่งขันทางการค้า การเข้าสู่ตลาด   การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐการระงับข้อพิพาทในการลงทุนระหว่างภาคเอกชนกับรัฐ การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มีตัวอย่างของ FTA ระหว่างสหภาพยุโรป-สาธารณรัฐเกาหลี ในกรณีสิทธิในด้านแรงงานที่สหภาพยุโรปตัดสินใจจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทต่อเรื่องการดำเนินตามพันธกรณี

2. สำหรับประเด็นการเปิดเสรีภาคบริการซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจของไทยและเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจอื่นอาจส่งผลในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ทางสหภาพยุโรปต้องการผลักดันในเรื่องของการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุน คือการเข้าถึงตลาดที่สหภาพยุโรปมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม การเงิน และการขนส่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้าในตลาดที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเหล่านี้ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่ดีจากภาครัฐ

3. ความพยายามจัดทำความตกลง FTA ระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มประเทศ Mercosur ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าตลาดในสหภาพยุโรป อาทิ เนื้อไก่และน้ำตาล เป็นที่น่าจับตามองเนื่องจากจะเป็นช่องทางให้สินค้าคู่แข่งจากประเทศเหล่านั้นมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น และจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดยุโรป ตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำ FTA กับสหภาพยุโรปในอนาคต

4. ประเด็นการเมืองภายในสหภาพยุโรป อาจส่งผลต่อทิศทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทย ซึ่งล่าสุดนาง Ursula von der Leyen รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีซึ่งเป็นนักการเมืองสาย Pro-EU ได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงข้างมากในสภายุโรปให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) คนใหม่แทนนาย Jean-Claude Juncker แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเสียงสนับสนุนจากกลุ่มพรรคการเมืองผสม 383 เสียงจาก 733 เสียง เป็นคะแนนที่    ค่อนข้างจะ “ปริ่มน้ำ” ซึ่งสร้างความกังวลในแง่เสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางการเมือง

และอาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการยุโรปมีความยากลำบากเนื่องจากต้องประสานประโยชน์และข้อขัดแย้งกับกลุ่มต่าง ๆ อีกทั้ง การที่ฝ่ายพรรคการเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายขวาจัดมีจำนวนที่นั่งในสภายุโรปมากขึ้นก็อาจทำให้การเจรจาผลประโยชน์มีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้นได้ ทั้งนี้ คาดว่าสหภาพยุโรปจะยังคงผลักดันให้คู่เจรจาความตกลง FTA ต่าง ๆ ดำเนินการตามค่านิยมหลักของสหภาพยุโรป อาทิ ประชาธิปไตยและระบบการค้าเสรีที่เป็นธรรม ตลอดจนสิทธิมนุษยชนต่อไป รวมทั้งประเด็นที่เป็นนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมทางเพศที่อาจได้รับการผลักดันให้เป็นมาตรฐานใหม่ในการเจรจา  ความตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปต่อไป

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกฝ่ายจับตามองเศรษฐกิจโลกว่าอยู่ในสภาวะที่กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนและนักธุรกิจจากหลาย ๆ ปัจจัยนี้ การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงไทย-สหภาพยุโรป FTA ในอนาคตอันใกล้จึงถือว่าเป็นข่าวที่สดใส (หากมีขึ้น) ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Thailand-EU Business Forum ในหัวข้อ “โอกาสการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเบเนลักซ์และประเทศฝรั่งเศส” เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการเจรจาความตกลงไทย-สหภาพยุโรป FTA ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้น

โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก) รวมทั้งฝรั่งเศส มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับโอกาสการค้าและการลงทุน รวมทั้งความท้าทายในตลาดสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเบเนลักซ์และฝรั่งเศส ทั้งในแง่มุมของนโยบายส่งเสริม การลงทุน โครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎหมาย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ รวมถึงอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและโดดเด่นของแต่ละประเทศ โดยคาดหวังว่าผลที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นแรงที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศและเป็นตัวจุดประกายให้ธุรกิจไทยตื่นตัวรับรู้โอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนในสหภาพยุโรปต่อไป

******************************************

อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/647847