ลู่ทางการค้า-การลงทุนสหภาพยุโรป: เจาะตลาดกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศส

ลู่ทางการค้า-การลงทุนสหภาพยุโรป: เจาะตลาดกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศส

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,546 view

ลู่ทางการค้า-การลงทุนสหภาพยุโรป: เจาะตลาดกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศส

          ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู จะเป็นความหวังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจไทยได้เข้าถึงตลาดร่วมยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีรายได้รวมมากกว่า 5 เท่าของอาเซียน และมีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงกว่า 500 ล้านคน โดยความตกลงการค้าเสรีจะช่วยให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อธุรกิจขนาดเล็ก ประโยชน์หลายด้านของความตกลงการค้าเสรีรวมถึง การลดอุปสรรคทางการค้า-การลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากบริษัทอียูที่มาลงทุนในไทย การสร้างงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ความโปร่งใสด้านภาษี เป็นต้น ผู้บริโภคก็มีทางเลือกในการซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและถูกลง นอกจากความได้เปรียบทางการค้าข้างต้น ไทยก็จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานด้านต่างๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเจรจาและการแข่งขันที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

          นอกจากนี้ ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นหลายขั้ว บทบาทของอียูที่จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ในการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบ WTO ยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไทยควรร่วมมือกับอียูในการปฏิรูป WTO และส่งเสริมระบบการค้าเสรีแบบพหุภาคีที่ตั้งบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคี เนื่องจากมาตรการการกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบการค้าพหุภาคีและเป็นปัจจัยหลักของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจุดประกายให้ภาคธุรกิจไทยเตรียมความพร้อมรับรู้และตื่นตัวสำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียูที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ จึงร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Trade & Investment Opportunities between Thailand, Benelux Countries and France in Preparation for the Future Thai-EU FTA” เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจไทยได้รู้จักศักยภาพและสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก) และฝรั่งเศสมากขึ้น ก่อนที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะนำคณะนักธุรกิจไทยไปสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนของกลุ่ม    เบเนลักซ์และฝรั่งเศสในช่วงปี 2563

          งานสัมมนาได้รับเกียรติจากนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ดร. ชิงชัย หาญเจนลักษณ์    รองประธานหอการค้าไทย นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และนางสาวเก็จพิรุณ         เกาะสุวรรณ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน โดยทุกท่านต่างเห็นพ้องว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะผลักดันให้อียูและไทยกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรีอีกครั้งหลังจากหยุดชะงักไปกว่า 5 ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อปี 2557 อย่างไรก็ดี ความตกลงการค้าเสรีที่จะจัดทำจะต้องตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่าย และสร้างประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันโดยต้องเป็นมากกว่าการเปิดตลาดสินค้าแต่รวมไปถึงภาคบริการและการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งนี้ การรื้อฟื้นการเจรจานับเป็นนโยบายสำคัญอันดับต้น ๆ ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน โดยทั้งไทยและอียูหวังว่า จะสามารถลงนามความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement) ได้โดยเร็ว และสามารถเจรจาความตกลงการค้าเสรีได้สำเร็จภายใน 2 ปี

          นอกจากนี้ งานสัมมนายังสามารถดึงเอาเอกอัครราชทูตและตัวแทนจากประเทศที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากหน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์และฝรั่งเศส รวมถึงตัวแทนผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในยุโรปจากบริษัท CPF Europe S.A. และบริษัท Merit Food Products จำกัด มาร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับโอกาสการค้าการลงทุนในประเทศเหล่านั้น โอกาสและความท้าทายที่จะมาพร้อมกับความตกลงการค้าเสรี ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และหนทางความสำเร็จของธุรกิจไทยในยุโรป

          เอกอัครราชทูตอียูและเอกอัครราชทูตกลุ่มเบเนลักซ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของฝรั่งเศสกล่าวถึงโอกาสการค้าการลงทุน พร้อมชูจุดเด่นในประเทศของตนเอง    ผู้ร่วมสัมมนาได้ยิงคำถามในประเด็นของความแน่นอนและความเร็วช้าของการเจรจา ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อคณะผู้บริหารชุดใหม่ของอียูเริ่มรับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยฝ่ายอียูย้ำ    ความตั้งใจของการกลับมาเจรจาบนพื้นฐานของค่านิยมร่วมในการส่งเสริมระบบการค้าที่ตั้งบนกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม    ตลอดจนความมุ่งหวังที่การเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคีจะเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างภูมิภาคได้ในอนาคต ส่วนฟากเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส เห็นร่วมกันว่าหากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีสำเร็จได้โดยเร็วทุกฝ่ายก็จะได้รับประโยชน์ ซึ่งความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการใช้ความตกลงการค้าเสรีที่อียูเพิ่งทำกับเวียดนามเป็นต้นแบบเพื่อให้มีกรอบการเจรจาและระยะเวลาที่ชัดเจน โดยอาจสำเร็จได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ทั้ง 4 ประเทศพร้อมที่จะถ่ายทอดเสียงเรียกร้องจากงานสัมมนาไปยังเมืองหลวงของตนเพื่อสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาโดยเร็ว

          ในภาคการบรรยายและแลกเปลี่ยนทัศนะโดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์และฝรั่งเศส วิทยากรแต่ละท่านเลือกนำเสนออุตสาหกรรมที่น่าสนใจและโดดเด่นของแต่ละประเทศ โดยเบลเยียมครอบคลุม 3 เขตการปกครอง ได้แก่ เขตฟลานเดอร์ส (ตอนเหนือและตะวันตกของประเทศ) เขตบรัสเซลส์ (เมืองหลวงและปริมณฑล) และเขตวัลโลเนีย (ตอนใต้และตะวันออกซึ่งติดกับฝรั่งเศส) และเน้นอุตสาหกรรมด้านงานวิจัยและการพัฒนา เคมีภัณฑ์ อัญมณี กิจการ  ของอียูและรัฐ (EU & Public Affairs) การขนส่ง และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (โดยรวมถึงกรณีที่ Alibaba เพิ่งลงนามความร่วมมือกับสนามบินเมืองลิเอจ (Liege) ซึ่งเป็นสนามบินสำหรับการขนส่งสินค้าของเบลเยียม เพื่อใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าในยุโรป นอกเหนือจากมอสโก ดูไบ และกัวลาลัมเปอร์) ในขณะที่เนเธอร์แลนด์ เน้นสาขาการเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนลักเซมเบิร์กเน้นการเงินและเทคโนโลยีสารสนเทศ

          นอกจากนี้ ประเทศทั้ง 4 ซึ่งมีพรมแดนเชื่อมต่อกันและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีรายได้และการใช้จ่ายมากที่สุดภูมิภาคหนึ่งของยุโรป (ภูมิภาคยุโรปตะวันตกรวมเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ) การขนส่งทางเรือ และทางบก และทางอากาศจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงสินค้าและบริการทั้งภายในและระหว่างภูมิภาคซึ่งเนเธอร์แลนด์และเบลเยียมมีท่าเรือสำคัญ ได้แก่ รอตเตอร์ดัม แอนต์เวิร์ป ในขณะที่สนามบินลักเซมเบิร์กและลิเอจก็ขึ้นชื่อเรื่องการขนส่งทางอากาศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กระจายสินค้าอันดับ 6 และ 7 ของภูมิภาคยุโรปตามลำดับ การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ตัวแทนภาคธุรกิจที่มีสถานประกอบการอยู่ในยุโรปหรือมือใหม่ที่สนใจค้าขายหรือลงทุนในต่างประเทศสามารถรับฟังข้อมูลโอกาสการค้าการลงทุนในกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศส ในฐานะประตูสู่ตลาดร่วมของอียู ประกอบกับสถานการณ์ Brexit ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนและทำให้เกิดสูญญากาศทางการลงทุน บางธุรกิจอาจพิจารณาย้ายฐานประกอบการมายังกลุ่มเบเนลักซ์หรือฝรั่งเศส ซึ่งพร้อมให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ โดยที่ปัจจุบันอียูมีความตกลงการค้าเสรีกับ 96 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจากับอีก 29 ประเทศ อียูจึงเป็นมากกว่าตลาดเดียวแต่ยังเป็นประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ จำนวนมาก

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา อียูได้เสนอแต่งตั้งนาย Phil Hogan สัญชาติไอร์แลนด์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการด้านเกษตรและการพัฒนาชนบทคนปัจจุบันเป็นกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าคนใหม่ โดยนาย Hogan เป็นนักเจรจาคนสำคัญของอียูที่มีบทบาทผลักดันให้การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น เม็กซิโก และกลุ่มประเทศ Mercosur ได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วและได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอียู ซึ่งภายใต้ตำแหน่งใหม่ที่จะต้องรับผิดชอบประเด็นการค้าระหว่างประเทศโดยตรงบทบาทของเขาจะยิ่งทวีความสำคัญต่อการเจรจาการค้าระหว่างอียูกับนานาประเทศในอนาคต โดยนาย Hogan ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเจรจาที่มีความเด็ดเดี่ยว แข็งกร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็ยุติธรรม นอกจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีซึ่งรวมไปถึงความตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูหลัง Brexit แล้ว นาย Hogan ยังได้รับความไว้วางใจจากผู้นำ  อียูให้เป็นผู้นำในการเจรจาการปฏิรูป WTO ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการวางแผนภาษีสิ่งแวดล้อม (EU Carbon Border Tax) ซึ่งภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตามอง

          สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และทีมงาน Thaieurope.net หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 จะสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้ประกอบการไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคณะนักธุรกิจในการไปสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนในกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศสในช่วงปีหน้าภายใต้โครงการของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียูในอีกไม่ช้า ทั้งนี้ ทีมงาน Thaieurope.net ขอฝากรายชื่อหน่วยงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของกลุ่มเบเนลักซ์และฝรั่งเศสเพื่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน และตอบคำถามที่เกี่ยวข้องในอนาคต

        (1) Flanders Investment & Trade เขตฟลานเดอร์ส เบลเยียม

        (2) Hub.brussels เขตบรัสเซลส์ เบลเยียม

        (3) Wallonia Foreign Trade and Investment Agency เขตวัลโลเนีย เบลเยียม

        (4) Netherlands-Thai Chamber of Commerce เนเธอร์แลนด์

        (5) Luxembourg Chamber of Commerce ลักเซมเบิร์ก

        (6) Franco-Thai Chamber of Commerce ฝรั่งเศส

 

*****************************************************************************

อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648315