วันที่นำเข้าข้อมูล 5 เม.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
จับตาเหตุการณ์สำคัญของสหภาพยุโรปประจำสัปดาห์ (11-17 มีนาคม 2562)
การเมือง – 11 มี.ค. 2562 นาง Theresa May นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้พบกับนาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และมีข้อตกลงร่วมกันที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในประเด็น Backstop เพื่อป้องกันการมี Hard border ระหว่างไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือหลังสหราชอาณาจักร (UK) ออกจากการเป็นสมาชิก EU โดยนาง May ใช้ข้อตกลงร่วมดังกล่าวพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ UK ลงมติเห็นชอบข้อตกลง Withdrawal Agreement ที่รัฐบาลได้เจรจากับ EU แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2562 สภาฯ ยังคงมีมติไม่เห็นชอบกับข้อตกลง Withdrawal Agreement ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 (391 ต่อ 242 คะแนน) หลังจากครั้งแรกรัฐบาลแพ้ไปด้วยคะแนน 432 ต่อ 202 คะแนนในเดือนมกราคม 2562
– 12 มี.ค. 2562 นาย Manfred Weber ประธานกลุ่มการเมืองยุโรป European People’s Party (EPP) ได้พบหารือกับนาย Victor Orban นายกรัฐมนตรีฮังการีและหัวหน้าพรรค Fidesz ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ภายหลังจากที่นาย Orban ได้ต่อว่าสมาชิกกลุ่ม EPP ที่เรียกร้องให้ EPP ขับพรรคของนาย Orban ออกไป ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเป็น “useful idiot” แม้นาย Orban จะกล่าวขอโทษภายหลังแล้ว ก็ตาม ทั้งนี้ หลังการพบหารือ นาย Weber ให้สัมภาษณ์ว่า การพูดคุยของตนและนาย Orban มีบรรยากาศที่สร้างสรรค์ แต่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่าง EPP กับพรรค Fidesz ยังไม่สามารถคลี่คลายได้
เศรษฐกิจ – สหภาพยุโรปประกาศปรับปรุงบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษี (EU non-cooperative tax jurisdictions list) โดยที่ประชุมรัฐมนตรีการคลังของประเทศสมาชิก EU มีมติเมื่อ 12 มี.ค. 2562 ปรับปรุงรายชื่อประเทศในบัญชีดำ (blacklist) ทำให้มีประเทศที่อยู่ในบัญชีดำรวม 10 ประเทศ โดย 3 ประเทศใหม่ที่เข้ามาในบัญชี คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต เบอร์มิวดา และหมู่เกาะมาร์แชล และอีก 7 ประเทศเดิมได้แก่ อารูบา บาร์เบโดส เบลีซ ฟิจิ โอมาน วานูอาตู และดอมินีกา
การต่างประเทศ – 12 มี.ค. 2562 คณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (HR/VP) ได้มีแถลงการณ์ร่วมเรื่อง EU-China – A strategic outlook เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ EU-จีน โดยเห็นว่า EU ควรที่จะมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมในระดับโลก การพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจ และเน้นการปรับตัวของ EU ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเสริมสร้างนโยบายและฐานอุตสาหกรรมภายในของ EU โดยที่ประชุมคณะมนตรียุโรปในวันที่ 21 มี.ค. 2562 จะรับรองแถลงการณ์ฯ ต่อไป
– ในวันเดียวกัน องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency – EASA) ประกาศงดนำเครื่องบินยี่ห้อ Boeing รุ่น 737 Max ขึ้นบินทั่วภูมิภาคยุโรป และห้ามบินผ่านเข้าน่านฟ้าของยุโรป หลังจากที่เครื่องบินรุ่นดังกล่าวของสายการบิน Ethiopian Airlines เที่ยวบินที่ 302 ประสบอุบัติเหตุทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ที่น่าติดตามประจำสัปดาห์นี้ (18-24 มีนาคม 2562)
18 มี.ค. 2562: – คณะมนตรีด้านการต่างประเทศของ EU จะประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็น ความสัมพันธ์ EU-จีน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมผู้นำ EU-จีน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 เม.ย. 2562 ณ กรุงบรัสเซลส์
20 มี.ค. 2562: – UK มีกำหนดลงมติข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรป (Withdraw Agreement) รอบที่ 3 เพื่อเป็นการชี้ชะตาว่า UK จะออกจากสหภาพยุโรปในทิศทางใด
– กำหนดการประชุมกลุ่ม EPP เพื่อลงมติว่าจะขับไล่พรรค Fidesz ชองฮังการีซึ่งมีนาย Orban เป็นหัวหน้าพรรคออกจากกลุ่มหรือไม่ โดยปัจจุบันพรรคดังกล่าวมีที่นั่งอยู่ในกลุ่มจำนวน 12 ที่นั่ง
21 มี.ค. 2562: – กำหนดการประชุมคณะมนตรียุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยหนึ่งในวาระสำคัญคือ การลงมติของผู้นำประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 27 ประเทศว่า จะยอมให้ UK เลื่อนกำหนดการการออกจากการเป็นสมาชิก EU หรือไม่ โดยการลงมติ ผู้นำทั้ง 27 ประเทศจะต้องเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น
********************************
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)