ผลการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู หัวข้อ “ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือภายใต้ PCA” ในวันที่ 8 มีนาคม 2566

ผลการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู หัวข้อ “ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือภายใต้ PCA” ในวันที่ 8 มีนาคม 2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 มี.ค. 2566

| 843 view

สรุปผลการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลงว่าด้วย
ความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (
PCA ไทย-อียู)
ในหัวข้อ “ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือภายใต้ PCA”

วันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 09.00-13.00 น. ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์

          เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 09.00-13.00 น. กรมยุโรปร่วมกับศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (ISC) จัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ในหัวข้อ “ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือภายใต้ PCA” ที่โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 70 คน จากกว่า 30 หน่วยงาน

          ผู้เข้าร่วมอภิปรายในการสัมมนาฯ ประกอบด้วย (1) ออท. กิตติ วะสีนนท์ สมาชิกวุฒิสภา และรอง ปธ. คมธ. ด้านการต่างประเทศ คนที่หนึ่ง (2) น.ส. สมฤดี พู่พรอเนก รอธ. กรมยุโรป (3) ผศ.ดร. กษิร ชีพเป็นสุข รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (4) นางจีรภรณ์ ศิริพลัง ทุมมาศ หน. กลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์ฯ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยธ. (5) นายคณพศ ภูวบริรักษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สมช. และ (6) ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดิช เนามัน โดยมี ออท. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผอ. ISC เป็นผู้ดำเนินรายการ

          ในช่วงพิธีเปิด อธ. กรมยุโรป (นายอสิ ม้ามณี) ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของค่านิยมพื้นฐานในร่าง PCA ไทย-อียู ต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับอียู รวมถึงย้ำประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) PCA ไม่ใช่เรื่องใหม่และหลายประเด็นได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว การจัดทำ PCA จะช่วยจัดแผนงานความร่วมมือกับอียูและประเทศสมาชิกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (2) PCA มีประโยชน์ในการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรฐานและการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ของไทย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเจรจา FTA กับอียู (3) PCA เพิ่มโอกาสให้ไทยได้แบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยด้วย ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือที่สมดุล และ (4) การนำ PCA ไปปฏิบัติจำเป็นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีการเยียวยาผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเด็นสำคัญที่ได้หารือในช่วงการอภิปราย                                                                       

          1. การยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือไทย-อียู ภายใต้ PCA อาทิ หลักการประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ หลักนิติธรรม จะเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในด้านอื่น ๆ ต่อไป

          2. บริบทโลกที่เปลี่ยนไปทั้งการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalisation) และการแยกขั้วอำนาจทำให้อียูเร่งที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ยึดถือค่านิยมชุดเดียวกัน โดยมีร่าง PCA เป็นหนึ่งในเครื่องมือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

          3. การเจรจาร่าง PCA เป็นการเดินหมากทางยุทธศาสตร์ที่ดีของไทย และไทยก็ได้ประโยชน์ด้วยจากความร่วมมือในประเด็นที่หลากหลายและทันสมัย รวมถึงในประเด็นท้าทายระดับโลกต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกันเพื่อรับมือ

          4. ในมุมมองทางกฎหมาย ไทยและอียูเจรจากันอย่างเท่าทัน อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทยและพันธกรณีที่ไทยมีในเวทีระหว่างประเทศ โดยการมี PCA นี้ ทำให้ไทยมีมาตรวัดการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ทัดเทียมกับความเป็นสากล และความร่วมมือในร่าง PCA ไทย-อียู จะสร้างโอกาสทางการค้า รวมถึงเป็นทางเลือกทางนโยบายต่างประเทศของไทยด้วย

          5. ในด้านการคุ้มครองสิทธิฯ การมีช่องทางหารือกับอียูจะทำให้อียูมีความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของไทย ในขณะเดียวกัน ไทยก็ได้เรียนรู้จากอียูและประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น

          6. ในด้านความร่วมมือด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จะช่วยให้ SMEs มีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อีกทั้งเป็นโอกาสในการของบประมาณของฝ่ายไทย

          7. ในด้านอาวุธ ไทยจะสามารถเข้าถึงข่าวกรองของฝ่ายอียู ได้รับความช่วยเหลือในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ

          8. ข้อเสนอแนะในการนำร่างกรอบความตกลง PCA ไปปฏิบัติ ไทยต้องเน้นการพัฒนาคนรวมถึงการเสริมสร้างทักษะทางภาษาให้กับเจ้าหน้าที่เทคนิค/ผู้ปฏิบัติ การติดตามและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ ๆ ของอียู  เช่น กฎหมายลดการทำลายป่า มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน การติดตามท่าทีอียูต่อสถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทย และสานสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอียูที่สำคัญหรือที่ให้ความสำคัญกับไทยเพื่อนำร่าง PCA ไทย-อียู ไปสู่การปฏิบัติ          

* * * * * * * * * *  

ดร. อนุสนธิ์ ชินวรรโณ
ผอ. ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- PCA ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของส่วนได้ส่วนเสียของฝ่ายใดหรือฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย แม้ว่าในบางบริบทจะต้องมีฝ่ายใดได้ประโยชน์มากกว่าหรืออีกฝ่ายได้รับผลกระทบมากกว่า โดยคำสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้คือ ‘หุ้นส่วน’ และ ‘รอบด้าน’

- อียูมีกฎหมายที่เข้มงวด หลายบริษัทจากอียูได้ออกมาตั้งบริษัทและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศอื่น โดยได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และทำการส่งสินค้าเหล่านั้นกลับไปขายในอียู
- ในแง่หนึ่ง เหตุผลที่อียูผลักดันมาตรฐานต่าง ๆ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทของอียูมาใช้ประโยชน์จากประเทศที่มีมาตรฐานต่ำกว่า อาทิ เรื่องแรงงาน สิทธิมนุษยชน ดังนั้น อียูจึงมีมาตรฐานในหลายด้านที่อยากจะให้ประเทศนอกอียูนำไปปรับใช้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้น ๆ รวมถึงไทยด้วยเช่นกัน

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

- การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ จำเป็นต้องดึงความร่วมมือกับยุโรปเข้ามาช่วยผลักดันในเรื่องนี้

ข้อท้าทาย หรือข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ

- CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ยังไม่กระทบกับธุรกิจ SMEs ประเด็นที่น่าห่วงกังวลมากกว่า คือ กฎระเบียบ Deforestation-free Products เพราะจะกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังยุโรป

ผศ.ดร. กษิร ชีพเป็นสุข
รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- ค่านิยมของยุโรป (European Values) มีความชัดเจนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมีการระบุไว้ในสนธิสัญญาลิสบอน มาตรา 2 ที่เน้นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม หลักนิติธรรม และการเคารพสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำในอีกหลายเอกสารสำคัญ เช่น กฎบัตรของอียูว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน (EU Charter of Fundamental Rights) กฎเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกของอียู (Copenhagen Criteria)

- ค่านิยมที่อียูให้ความสำคัญเป็นมากกว่าอัตลักษณ์ระดับชาติ ซึ่งจะแบ่งปันร่วมกันในหมู่ประเทศสมาชิกของอียู และเมื่ออียูไปปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคอียูก็จะนำค่านิยมเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการปฏิสัมพันธ์ด้วย กล่าวคือ ถ้าหากต้องการให้ความสัมพันธ์กับอียูราบรื่น ยั่งยืน ต่อเนื่อง และยาวนาน หุ้นส่วนภายนอกจะต้องเข้าใจในค่านิยมที่อียูยึดถือ

- นโยบายการต่างประเทศของอียูจึงอิงค่านิยม (values-based policy) และเป็นเงื่อนไขในการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอียูต้องการเป็นผู้นำ/ผู้กำหนดบรรทัดฐานในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้หุ้นส่วนยึดถือร่วมกัน

- ในแวดวงวิชาการมองว่า อียูได้สร้างพลังอำนาจเชิงบรรทัดฐานหรือค่านิยมของอียู (Normative Power Europe: NPE) ที่พยายามมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของประเทศอื่น ๆ โดยการส่งออกค่านิยมที่ตนเองปรารถนา และเชื่อว่ามาตรฐาน สากลสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากการส่งออกมาตรฐานของอียู เช่น กรณีของ IUU โดยค่านิยมเช่นนี้มีการบรรจุลงใน PCA อย่างชัดเจน

- PCA เปรียบเสมือนการยกระดับความสัมพันธ์ของอียูกับหุ้นส่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทั้งคู่ยึดถือในค่านิยมเดียวกัน อนึ่ง ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ PCA กับไทยมีการพูดถึงบทบาทของภาคประชาสังคมซึ่งแตกต่างจาก PCA กับเวียดนามที่มีการพูดถึงประเด็นนี้น้อยกว่า

- หลายประเด็นใน PCA เช่น ประเด็น IUU, ประเด็นสิ่งแวดล้อม, หลักการไม่ผลักดันกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement) เป็นหลักการที่ไทยมีความจริงจังในการปฏิบัติอยู่แล้ว ขณะที่ในประเด็นโทษประหารชีวิต ภายใต้ PCA ไทยมีแนวโน้มจะระงับการใช้โทษดังกล่าวมากขึ้น

- ขณะที่ในประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ ไทยทำได้ดี โดยไม่ครอบครองและไม่ทดลองอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความร่วมมือด้านข้อมูลสถิติซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับกรอบอาเซียน-EU ที่มองว่า การวางนโยบายควรมีหลักฐานเชิงประจักษ์และอาศัยสถิติเพื่อการวางแผน

ข้อท้าทาย หรือข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ

- รศ.ดร. กษิรฯ ได้ให้ข้อสังเกตว่า ทั้งไทยและอียูเห็นร่วมกันว่าอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติเป็นประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การที่ไทยยังมิได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมฯ อาจเป็นเพราะยังต้องดำเนินการภายในบางอย่างก่อน

น.ส. สมฤดี พู่พรอเนก
รองอธิบดีกรมยุโรป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ระเบียบโลกในปัจจุบันมุ่งไปสู่การเป็นระบบสองหรือหลายขั้วอำนาจอันจะนำไปสู่สภาวการณ์แบ่งแยกขั้วการผลิตในระดับโลก (decoupling) และทำให้ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก (global value chains) แตกออกเป็นห่วงโซ่มูลค่าในระดับภูมิภาค (regional value chains) รวมทั้งเกิดกระแสการลดทอนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalisation) และปรากฏการณ์การรวมกลุ่มขนาดเล็กของกลุ่มประเทศต่าง ๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ (minilateralism) ทั้งด้านการทหาร และแนวคิด เช่น QUAD

- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อียูเริ่มใช้แนวคิด Strategic Autonomy ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่อียูต้องการหันกลับมาดูภายในตนเอง โดย (1) เน้นการหา like-minded partners และคู่ค้ารายใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม ASEAN (2) ผลักดันการเข้าตลาด (market access) ผ่านการทำ FTA ที่มีมาตรฐานสูงและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน (3) ส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ EU Green Deal ให้มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

- อียูได้ประกาศยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (EU Strategy for Co-operation in the Indo-Pacific: EUSIP) เพื่อเป็นหนึ่งในแผนงานให้อียูบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยในตัวยุทธศาสตร์มีการระบุถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับไทยและภูมิภาคในหลายสาขาบนพื้นฐานของค่านิยมร่วม รวมถึง PCA และ FTA

- แม้ในหลายข้อบทของ PCA จะบรรจุประเด็นที่ประเทศตะวันตกให้ความสนใจ (Eurocentric) แต่การเจรจาก็เป็นไปตามมาตรฐานของไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศบนพื้นฐานความเท่าเทียม โดยไทยไม่เสียประโยชน์

- สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย เป็น essential element โดยคณะกรรมการร่วมภายใต้ PCA (Joint Committee: JC) ที่จะจัดตั้งขึ้น จะหารือกันในเรื่องนี้ด้วย

- PCA ยังสะท้อนความพร้อมของไทยในการมีความร่วมมือในประเด็นที่ทันสมัย เช่น การลดคาร์บอน สภาพแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเสริมพลังสตรี ซึ่งประเด็นเหล่านี้ อียูได้พยายามบรรจุไว้ในหลายข้อบท (mainstream)

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

- PCA ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูดีขึ้นมาก โดยอียูมองไทยเป็นหุ้นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การค้าและการจัดทำ FTA โดยผู้แทนอียูหลายคณะได้เดินทางเยือนไทยเพื่อหารือกับหน่วยงานที่ไทยที่เกี่ยวข้องบ่อยครั้งขึ้น

- ไทยสามารถเรียนรู้จากอียูเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทย อาทิ การจัดตั้งและบริหารตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนการปรับตัวของเอกชนไทยให้เข้ากับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น แทนที่จะจ่ายปรับคาร์บอน (ตามมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนหรือ CBAM ของอียู) เมื่อส่งออกสินค้าไปยังอียู โดย กต. กำลังร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องดังกล่าว

ข้อท้าทาย หรือข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ

- ต่อคำถามของ คุณกรรณิการ์ กิตติเวชกุล จาก FTA Watch/ นันทิดา พวงทอง จากสำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจที่ว่า การที่อียูออก Regulation on Deforestation-free Products (RDFP) และมาตรการ CBAM จะส่งผลต่อไทยอย่างไร
รอธ. สมฤดีฯ อธิบายว่า อียูซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจสำคัญของไทย (คู่ค้าสำคัญลำดับที่ 5 และผู้ลงทุนสำคัญลำดับที่ 2) ออกมาตรการเหล่านี้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของเอกชนอียูที่ต้องเผชิญกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของอียูเป็นจำนวนมาก (สร้าง level-playing field) ซึ่งทั้งมาตรการ RDFP และ CBAM จะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนของไทย โดยเฉพาะมาตรการ RDFP ที่จะกระทบผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และสินค้าเกษตรบางประเภทซึ่งรวมถึงยางพาราที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังอียูที่สูงมาก โดยผู้ประกอบการไทยต้องพิสูจน์ว่า สินค้าเหล่านี้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า มาตรการ RDFP จะเริ่มมีผลบังคับใช้อยากเต็มรูปแบบในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ กต. กำลังสนับสนุนอียูในการทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของ RDFP ต่อไทยอยู่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการพิจารณาโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการ RDFP ต่อไป ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ โดยตรง

- ต่อคำถามของ คุณกรรณิการ์ฯ ที่ว่า ภายหลังการมี PCA จะทำให้อียูสามารถใช้มาตรการหรือแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นในการสอดส่องดูแลพัฒนาการประชาธิปไตยไทยหรือไม่ รอธ. สมฤดีฯ ตอบว่า การมี PCA เป็นการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อียูจะสามารถหยิบยกข้อห่วงกังวลของเขาในกรอบ Human Rights Dialogue ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นภายใต้ PCA และเป็นกรอบการหารือที่เปิดกว้าง (broad-based) ทั้งนี้ อียูไม่ได้ต้องการชี้นำ ใช้เครื่องมือหรือกลไกใหม่กับไทย แต่เป็นการแลกเปลี่ยนและรับทราบข้อห่วงกังวลของกันและกัน

- ต่อคำถามของ นายกิตติภพ บุญตาระวะ นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย ที่ว่า ภายหลังการลงนาม PCA กต. มีแนวทางบูรณาการการบังคับใช้ PCA กับหน่วยงานอื่นอย่างไร รอธ. สมฤดีฯ แจ้งว่า ในชั้นนี้ กต. กำลังนำ PCA เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้ จะจัดตั้ง Joint Committee (JC) ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้ข้อบทต่าง ๆ จึงขอให้หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการ รวมถึงระบุสาขาหรือประเด็นที่ต้องการร่วมมือกับอียูไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ประเด็นความร่วมมือภายใต้ PCA เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน (cross-cutting issues) จึงอยากขอรับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน

นายกิตติ วะสีนนท์
สมาชิกวุฒิสภา และรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่หนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- PCA เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 178 ของ รธน. ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับ FTA

- ประเด็นใน PCA มีความก้าวหน้า เช่น ความเท่าเทียมระหว่างเพศ จะแตกต่างกับ รธน. ที่ระบุเกี่ยวกับการรับประกันความเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น

- การเจรจา PCA ต้องให้ทั้ง 27 ประเทศสมาชิกอียูยอมรับด้วย โดยแม้ว่าความสัมพันธ์ไทย-อียู ไม่เคยเท่าเทียม แต่ไทยได้เจรจาและร่วมมือกับอียู
อย่างเท่าทัน โดยโน้มน้าวให้อียูลดมุมมองที่เน้นยุโรปเป็นศูนย์กลางมากเกินไป

- PCA เปิดโอกาสทางการค้าให้กับไทย โดยจะนำไปสู่การจัดทำ FTA กับอียู

- อียูเป็นทางเลือกทางนโยบายต่างประเทศให้ไทย นอกจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองของไทยด้วย

- ที่ผ่านมา ไทยพยายามยกระดับมาตรฐานอย่างรอบด้าน เช่น ไทยมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลฯ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอียู (GDPR) และไทยได้ผ่านร่างกฎหมายที่สะท้อนการยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พรบ. ป้องกันการทรมานฯ และร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่กำลังพิจารณา ซึ่งทั้งหมดสามารถรองรับการปฏิบัติตาม PCA ได้ นอกจากนี้ รธน. ของไทยก็มีการรับประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหลายข้อด้วย 

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

- ต่อคำถามของ ผศ.สาธิน สุนทรพันธ์ุ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เกี่ยวกับประเด็นที่อียูจัดทำ PCA กับเวียดนาม แม้จะมีพัฒนาการทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ไม่ก้าวหน้านัก นายกิตติฯ ให้ความเห็นว่า อียูมีแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เป็นตัวชี้นำ แต่ไทยจำเป็นต้องพัฒนาประชาธิปไตยของตนเองต่อไปเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับอียู ทั้งนี้ เมื่อต้องเจรจาข้อตกลงหรือมาตรการทางการค้ากับอียูไทยควรหารือกับประเทศสมาชิกอียูอื่น ๆ ด้วย โดยอาจขอความร่วมมือจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ เพราะเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมาก เป็นอาทิ นอกจากนี้ ไทยต้องไม่ลืมเสน่ห์ของตน เช่น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (mainland Southeast Asia) และในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งการมีสถานะเป็น Major Non-NATO Ally (MNNA) ด้วย เป็นต้น

นายคณพศ ภูวบริรักษ์
นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- ประเด็นความมั่นคงถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของ PCA โดยในอดีตความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูในประเด็นความมั่นคงมีลักษณะกระจัดกระจายไปตามแต่ละหน่วยงาน การประสานและหารือระหว่างกันไม่เป็นเอกภาพ แต่เมื่อมี PCA จึงช่วยทำให้ความร่วมมือในหลากหลายประเด็น เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การโยกย้ายถิ่นฐาน WMD การฟอกเงิน อาวุธเล็กและอาวุธเบา อยู่ภายใต้ทิศทางเดียวกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานไทยแสวงหาโอกาสร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

- นอกจากนี้ ในประเด็นอาวุธเล็กและอาวุธเบา จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยขณะนี้มีปืนประมาณ 10 ล้านกระบอก ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนและ 13 ของโลก โดยแบ่งเป็นปืนถูกกฎหมาย 6 ล้านกระบอก ไม่ถูกกฎหมาย 1 ล้านกระบอก และที่เหลือใช้ทางด้านการทหาร แม้ว่าจะมีการควบคุมและดูแลอยู่ แต่ยังพบว่า ยังคงมีการหลุดรอดไปได้ โดยมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธดังกล่าวประมาณปีละ 1,000 คน

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม
- ในประเด็นความมั่นคง PCA จะมีประโยชน์ในด้าน (1) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร (2) การยกระดับมาตรฐานของไทย ซึ่งหลายมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศอยู่แล้ว เช่น มาตรฐานทางสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (3) การรับมือความท้าทายในประเด็นใหม่ ๆ เช่น สาธารณสุข สมุทราภิบาล ที่สามารถกลายเป็นประเด็นความมั่นคงได้ (4) การเรียนรู้วิธีคิดที่ลื่นไหลและค่านิยมของอียู เพื่อให้ไทยสามารถเชื่อมโยงและแสวงหาผลประโยชน์ในประเด็นต่าง ๆ ในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกับอียูได้

- ในประเด็นอาวุธเล็กและอาวุธเบา ไทยและอียูสามารถร่วมมือกันเพิ่มขึ้นได้ ดังนี้ (1) การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อยกระดับขีดความสามารถและศักยภาพของไทย เช่น เทคโนโลยี International Tracing Instrument เพื่อช่วยตรวจสอบรอยประทับที่มาของอาวุธปืน กระสุน และชิ้นส่วน, การ small/micro stamping ในชิ้นส่วนของอาวุธเพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรทราบ, การตรวจสอบการเคลื่อนย้ายของชิ้นส่วนอาวุธปืน โดยอาศัย เช่น ระบบ radio frequency identification, ระบบ remote localisation of weapons, ระบบ biometric identification เข้ามาช่วยเหลือ (2) การจัดเก็บอาวุธต่าง ๆ (Physical Security and Stockpile Management: PSSM) เช่น ความปลอดภัยของสถานที่ตั้งคลังแสง การจัดให้อยู่ห่างจากพื้นที่ชุมชน การป้องกันไม่ให้วัสดุอุปกรณ์ระเบิด (3) ความร่วมมือในด้านข่าวกรองและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีใช้ไทยเป็นทางผ่านในการขนส่งอาวุธ ไทยจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างไร 

ข้อท้าทาย หรือข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ
- ในแง่ข้อจำกัดในความร่วมมือระหว่างไทยกับอียู ได้แก่ (1) พื้นฐานของความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยี (2) มุมมองต่อประเด็นเรื่องความั่นคงและความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน กล่าวคือ คนในอียูมักสนใจประเด็นที่กระทบความมั่นคงและความปลอดภัยขั้นพื้นฐานมากกว่าคนไทย เช่น เรื่องอาวุธการแพร่กระจายของอาวุธ (3) การสื่อสาร ภาษา ซึ่งเป็นอาจอุปสรรคในการส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมในต่างประเทศ

นางจีรภรณ์ ศิริพลัง ทุมมาศ
นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- อียูอยากให้มีการนำมาตรฐานสิทธิมนุษยชนมาใช้ โดยได้สนับสนุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBT สิทธิทางเศรษฐกิจตาม ICESCR  มีการจัดกิจกรรมร่วมกันทุกปี และอียูได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ UNDP ประจำประเทศไทยเป็นประจำทุกปีเพื่อดำเนินโครงการด้านการพัฒนา

- อียูให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ไทยได้ออกแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมีการจัดการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับภาคเอกชนรวมทั้ง SMEs ในต่างจังหวัดร่วมกับอียู

- ไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความพร้อมของบริษัทเอกชนในการดำเนินการตามการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนภาคบังคับ (Mandatory Human Rights Due Diligence: mHRDD) โดยการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของบริษัทจะไม่เป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งสอดคล้องกับการที่อียูได้ออก Directive on Corporate Sustainability Due Diligence โดยมีเนื้อหาว่าการที่บริษัทในอียูจะเป็นคู่ค้ากับบริษัทต่างชาติในประเทศนอกกลุ่ม บริษัทนั้นต้องมีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ดังนั้น ประเทศที่ต้องการทำการค้ากับอียูจำเป็นต้องให้ความสนใจกับสิ่งนี้มากขึ้น

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และ ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

- การมีข้อบทด้านสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะใน PCA จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีเพื่อมาปรับใช้กับไทย รวมทั้งเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือของไทยด้วย

- ไทยอาจได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้น หากสามารถเชื่อมโยงโครงการที่ไทยต้องการการสนับสนุนว่าเป็นการดำเนินการตาม PCA

ข้อท้าทาย หรือข้อมูลและความคิดเห็นอื่น ๆ

- มีแค่บริษัทใหญ่พยายามปรับตัวต่อการมีมาตรฐานทางธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่สูงขึ้น แต่ SMEs ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะปรับตัวให้ตอบโจทย์กับกระแสโลกที่เน้นสิ่งแวดล้อม

- เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่สามารถสื่อสารภาษาได้ทำให้มีอุปสรรคในการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน

- การเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยและฝ่ายอียูทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินหรือผลักดันความร่วมมือ

ดร. พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล
ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน สำนักงานประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

- มูลนิธิฟรีดิช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation) เป็นองค์กรที่ส่งเสริมคุณค่าตามที่ PCA ได้ระบุไว้ในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม เศรษฐกิจเสรี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เยอรมนี

- อียูและเยอรมนีต้องการส่งเสริมค่านิยมพื้นฐานและเน้นย้ำเรื่องความเป็นมาตรฐานสากล โดย PCA จะช่วยให้หุ้นส่วนของอียูซึ่งตีความค่านิยมแตกต่างกันมีมาตรวัดด้านมาตรฐานและค่านิยมเป็นชุดเดียวกัน

- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อียูได้มีแนวคิด Reshape Europe ซึ่งเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการเมืองของอียูไปอย่างมาก โดยอียูต้องการสร้างสัมพันธ์และเพิ่มบทบาทในภูมิภาคเอเชียซึ่งห่างหายไปนาน ผ่านมิติต่าง ๆ เช่น ความยั่งยืน สิทธิมนุษยชน นวัตกรรม วิทยาศาสตร์

- PCA เน้นการมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความยั่งยืนในหลายมิติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

- การเจรจา PCA ถือเป็น “good strategic move” ของไทย ความท้าทายที่สำคัญของ PCA คือ การนำมาปฏิบัติ

โอกาส ประโยชน์ที่ได้ และ ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

- ความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูผ่าน PCA เป็นโอกาสมากกว่าความท้าทาย

- PCA ถือว่าเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจ ในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน