การจัดการขยะพลาสติกของสวิตเซอร์แลนด์

การจัดการขยะพลาสติกของสวิตเซอร์แลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,354 view

ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากขยะพลาสติกในแหล่งน้ำจะถูกคลื่น ลม และแสงแดด ทำให้แตกตัวเป็นไมโครพลาสติกซึ่งมีอนุภาคที่เล็กมากและยากที่จะกำจัด เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ สวิตเซอร์แลนด์มีปริมาณขยะพลาสติกต่อหัวเกือบ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปถึงสามเท่า แต่ก็มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและได้รับความร่วมมือในการส่งเสริมการรีไซเคิลและลดปริมาณขยะพลาสติกจากทุกภาคส่วนในประเทศ

กระบวนการรีไซเคิลขยะพลาสติกของสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นจากครัวเรือนสวิสที่มีความตระหนักรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์มีนโยบายการเก็บภาษีขยะแบบต่อถุงซึ่งกระตุ้นให้ชาวสวิสหาวิธีลดปริมาณขยะที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการ นอกจากนี้ รัฐบาลกลางสวิสได้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในปี ๒๕๔๓ ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มต้องรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มพลาสติกคุณภาพสูงชนิด PET ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ โดยรัฐบาลจะออกมาตรการเก็บเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ หากไม่สามารถรีไซเคิลได้ตามอัตราที่กำหนด ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดความตื่นตัวและส่งเสริมการรีไซเคิลอย่างจริงจังเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ที่จะทำให้สินค้าราคาสูงขึ้น จึงร่วมมือกับสมาคม PET Recycling Switzerland ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ริเริ่มติดตั้งจุดรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานและดำเนินการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET อย่างครอบคลุมทั่วทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบัน มีจุดรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET มากกว่า ๕๐,๐๐๐ จุด ทั่วประเทศและมีอัตราเฉลี่ยการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม PET สูงกว่าร้อยละ ๘๐ นอกจากนี้ บรรดาร้านค้าปลีกเริ่มมีการติดตั้งจุดรับขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วไปชนิดอื่น ๆ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของขยะพลาสติกทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ ๗๕ จะถูกนำไปเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงาน

มีการรณรงค์ส่งเสริมการใช้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้เพื่อลดปริมาณขยะจากการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยรัฐบาลท้องถิ่นและธุรกิจร้านค้าและร้านอาหารได้ริเริ่มดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยสมัครใจ เช่น ในปี ๒๕๖๓ เทศบาลนครเจนีวาได้ห้ามจำหน่ายพลาสติกใช้แล้วทิ้งในพื้นที่สาธารณะ และตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ กลุ่มร้านค้าปลีกเริ่มเก็บค่าถุงพลาสติกในราคา ๐.๕ แรพเพน (๑๐๐ แรพเพนเท่ากับ ๑ ฟรังก์สวิส) ต่อใบ นอกจากนั้น ในปี ๒๕๖๓ บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ดังเช่น Migros และ Coop ก็ได้เริ่มลดการจำหน่ายหรือแจกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารพร้อมรับประทาน แทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้หรือสแตนเลส และลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึงร้อยละ ๔๗ และร้อยละ ๒๑ ตามลำดับ แต่ยังคงใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับผักและผลไม้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกลางสวิสยังไม่มีการออกกฎหรือกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก ดังเช่นการห้ามใช้/จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งของสหภาพยุโรป เนื่องจากรัฐบาลกลางสวิสมีความระมัดระวังในการออกกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยถือว่าเป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุสมควรและจำเป็นเท่านั้น เป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมเสรีนิยมอันเด่นชัดของสวิตเซอร์แลนด์ที่แทรกซึมอยู่ในวิถีการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมสวิส

*************************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ