วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ต.ค. 2567

| 380 view
ข้อมูลองค์การ OSCE และความร่วมมือกับไทย

1. ภูมิหลัง

   1.1 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) พัฒนามาจากกรอบการประชุมว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Conference on Security and Co-operation in Europe: CSCE) ก่อตั้งขึ้นในปี 2518 (ค.ศ. 1975) ในยุคสงครามเย็น และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นสิทธิเสรีภาพ ลดความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ในยุโรปบนพื้นฐานของ Helsinki Final Act และ Paris Charter

   1.2 OSCE เป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป ส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคเพื่อมิให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรง และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารเพื่อรักษาสันติภาพในประเทศสมาชิก OSCE ทั้งนี้ OSCE ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) และสหภาพยุโรป (EU) ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบันภารกิจของ OSCE แบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ (1) มิติการเมืองและการทหาร (2) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (3) มิติมนุษย์ ทั้งนี้ การออกแถลงการณ์และข้อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของ OSCE ใช้หลักการฉันทามติ

   1.3 OSCE มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปัจจุบันประเทศสมาชิกยังไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการเลือกเลขาธิการ OSCE คนใหม่ได้ (เลขาธิการคนก่อนหน้าคือ Ms. Helga Maria Schmid ชาวเยอรมัน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2567 (ค.ศ. 2020) / วาระ 3 ปี และได้รับการต่ออายุ โดยหมดวาระไปในเดือนกันยายน 2567) ประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธาน OSCE (Chairperson-in-Office: CiO) ปีปัจจุบัน (ปี 2566/ค.. 2023) คือ มอลตา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นาย Ian Borg) ทำหน้าที่เป็นประธาน นอกจากนี้ OSCE ยังใช้ระบบ Troika ซึ่งประกอบด้วยประเทศ CiO ปีปัจจุบัน ปีก่อนหน้า และปีถัดไปในการปรึกษาหารือเพื่อให้มีความต่อเนื่องทางนโยบายระหว่างวาระการเป็นประธาน โดยขณะนี้ (1) มอลตาเป็น CiO ปีปัจจุบัน (2) นอร์ทมาซิโดเนียเป็น CiO ปีก่อนหน้า (ปี 2566/ค.ศ. 2023) ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชีย และ (3) ฟินแลนด์ CiO ในปีถัดไป (ปี 2568/ค.ศ. 2025) ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน  

   1.4 มอลตา ในฐานะประธาน OSCE ปีปัจจุบัน ได้ระบุสามประเด็นหลักที่ให้ความสำคัญสูงสุด ดังนี้ (1) ให้ความสำคัญหลักต่อการก่อสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซียต่อยูเครนโดยจะคำนึงถึงประเด็นนี้ในทุกมิติการดำเนินงานของ OSCE โดยมอลตาในฐานะ CiO เรียกร้องให้ รซ. ยุติสงครามและถอนกำลังออกจากยูเครน
(2) ส่งเสริมบูรณาการในประเด็นมิติทางเพศ (Gender Mainstreaming) ผ่านการส่งเสริมวาระ Women, Peace, and Security (ซึ่งมอลตาให้ความสำคัญในฐานะสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC)) และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน (3) การลดความเลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสันติภาพอย่างยั่งยืน และ (4) ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดยเฉพาะในบริบทของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยดึงให้บุรุษและเด็กผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในความพยายาม

2. ประเทศสมาชิก

   2.1 OSCE เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประเทศเข้าร่วมทั้งหมด 57 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศในเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตทั้งหมด และมี 3 ประเทศที่อยู่นอกยุโรป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และมองโกเลีย (เข้าร่วมปี 2555(ค.ศ. 2012))

   2.2 นอกจากนี้ OSCE มีความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคภายใต้ชื่อประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ ฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน 6 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิสราเอล จอร์แดน โมร็อกโก และตูนิเซีย และหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชีย 5ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ทั้งนี้ ประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือไม่สามารถร่วมเจรจาหรือรับรองร่างข้อมติและข้อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ของ OSCE ได้ แต่สามารถเลือกรับแนวปฏิบัติของ OSCE ไปพิจารณาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมบนพื้นฐานความสมัครใจ

3. องค์ความรู้ของ OSCE

   3.1 โดยที่ OSCE เป็นองค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านกลไกการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) เพื่อหาข้อยุติและระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป ส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมของภูมิภาคเพื่อมิให้เกิดวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงและหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหาร OSCE จึงเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่มีมาตรฐานสูงและเป็นมืออาชีพในเรื่องแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงที่ครอบคลุม (comprehensive approach to security) ซึ่งรวมมิติด้านการเมืองและการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และด้านมนุษย์ เพื่อสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่หลากหลาย

   3.2 OSCE มีกำหนดจัดการประชุม การฝึกอบรม และสัมมนาตลอดปี เพื่อส่งเสริมและแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ OSCE ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การควบคุมการแพร่ขยายของอาวุธ การใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นคง (Confidence- and Security-Building Measures: CSBMs) การปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การเสริมสร้างและการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตย การต่อต้านการก่อการร้าย และกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

   3.3 กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยหน่วยงานและสถาบันที่อยู่ภายใต้ OSCE ที่เกี่ยวข้องของประเด็นนั้น ๆ เช่น สำนักงานสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สำนักงานผู้แทนพิเศษด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นต้น โดย OSCE เน้นประเด็นด้านความมั่นคงที่มีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงเปิดกว้างต่อประเด็นการมีส่วนร่วมของ non-traditional actors ในกระบวนการสันติภาพ เช่น NGOs สตรี และเยาวชน จึงสามารถสร้างความสนใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ OSCE เปิดรับผู้เข้าร่วมจากทั้งประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือ โดยไม่แบ่งแยกระหว่างประเทศสมาชิก Euro-Atlantic และ Eurasia รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้แก้ผู้เข้าร่วมด้วย

4. เครื่องมือที่เป็นรูปธรรมของ OSCE

   4.1 Parliamentary Assembly ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 320 คน จากรัฐสภาของประเทศสมาชิกทุกประเทศ เพื่อหารือประเด็นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายการเมืองและการทหาร

   4.2 High Commissioner on National Minorities (HCNM) ข้าหลวงใหญ่ด้านชนกลุ่มน้อยแห่งชาติ ซึ่งเป็น early warning system มีหน้าที่สำคัญในการแจ้งเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านชาติพันธุ์ให้เร็วที่สุดก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงลดความขัดแย้งดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เน้นการส่งเสริมสิทธิของชนกลุ่มน้อย อาทิ การเข้าถึงการศึกษาที่รองรับภาษาและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย และสิทธิอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ผ่านการส่งผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษา การพัฒนาศักยภาพ การสอนภาษา และการให้ความช่วยเหลือด้านสถานะทางกฎหมาย

   4.3 Office for Democratic Institutions and Human Rights (ODIHR) สำนักงานสถาบันประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน เน้นการดำเนินการใน 5 ประเด็น ได้แก่ การเลือกตั้ง การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน การอดทนอดกลั้นและการไม่เลือกประติบัติ และประเด็นชาว Roma และ Sinti มีการจัดการประชุม Human Dimension Implementation Meeting ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรป เพื่อทบทวนการดำเนินงานตามพันธกรณีที่ประเทศสมาชิก OSCE ได้ให้คำมั่นไว้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐ และภาคประชาสังคมร่วมรายงานผลการดำเนินการและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา

   4.4 Representative on Freedom of the Media (R/OFM) เป็นการทำงานร่วมกันด้านสื่อระหว่างรัฐ (intergovernmental media watchdog) ทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อทั้ง online และ offline เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีการละเมิดสื่อ

********************

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
๑ ตุลาคม ๒๕๖๗