อียู-ตูนิเซีย ทำข้อตกลงแก้ปัญหาอพยพ

อียู-ตูนิเซีย ทำข้อตกลงแก้ปัญหาอพยพ

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 ก.ค. 2566

| 1,482 view
        ตูนิเซีย  
        เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมานี้ EU ได้ลงนาม “ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับประเทศตูนิเซียโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นการย้ายถิ่นฐานแบบผิดกฎหมาย โดยให้การช่วยเหลือคิดเป็นจำนวนเงินมูลค่ากว่า 1 พันล้านยูโร หรือราว 39,000 ล้านบาท
 
        ข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจานานหลายสัปดาห์ระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐบาลตูนิเซีย และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากผู้นำตูนิเซียได้ออกมาเปิดเผยมูลค่าของขบวนการลักลอบขนย้ายผู้ลี้ภัยที่มีเม็ดเงินสะพัดกว่า 760 ล้านยูโร หรือราว 30,000 ล้านบาท
 
        พิธีลงนามมีขึ้นที่กรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย โดยนายมาร์ค รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ นางจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี และนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ร่วมลงนามกับนายไค ซาอิด ประธานาธิบดีตูนิเซีย
 
 
"ทำไมอียูถึงมอบเงินช่วยเหลือ"
 
        ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตูนิเซียต้องเผชิญกับปัญหาการย้ายถิ่นฐานผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารลี้ภัยอย่างถูกต้องหลายพันคนได้มุ่งหน้าไปยังสแฟกซ์ เมืองชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เนื่องจากต้องการขึ้นเรือของกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์เพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังประเทศอิตาลี จนกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพที่รุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในตูนิเซีย และได้สร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลอิตาลีชุดปัจจุบันที่ชูนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย
 
        รัฐบาลอิตาลีรายงานว่า ในปี 2566 มีผู้อพยพทางเรือราว 75,065 คนได้ขึ้นฝั่งอิตาลี ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีผู้อพยพทางเรือขึ้นฝั่งอิตาลีเพียง 31,920 คนเท่านั้น
 
        รัฐบาลอิตาลีเปิดเผยว่า จำนวนผู้อพยพจำนวนนี้ เกินกว่าครึ่งเดินทางมาจากประเทศตูนิเซีย โดยมีจำนวนนำหน้าประเทศลิเบีย ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นประเทศต้นทางของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาอิตาลี
 
        อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้อพยพทุกคนที่จะเดินทางไปถึงยุโรป เนื่องจากจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตระหว่างการเดินทางจากเหตุเรืออับปางกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะคลื่นลมที่รุนแรงรวมถึงการบรรทุกคนเกินขนาดความจุเรือ
 
 
"การทูตเพื่อมนุษยธรรมและนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Diplomacy)"
 
        เหตุการณ์เรือผู้อพยพล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถือเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมทั้งในทวีปยุโรปและแอฟริกา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ชาติยุโรปต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งมีสถานะเป็นประเทศต้นทาง รวมทั้งคอยสกัดผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยใช้การทูตเพื่อมนุษยธรรมและนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ Migration diplomacy เพื่อช่วยปกป้องสังคมและเศรษฐกิจยุโรปจากคลื่นผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากแอฟริกา
 
        ประเทศที่จะได้รับผลกระทบเป็นประเทศแรก ๆ จากคลื่นผู้อพยพจากตูนิเซีย คือ ประเทศที่อยู่ใกล้ที่สุดเช่น อิตาลี โดยประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้นำอิตาลีได้ปรากฏตัวในพิธีลงนามข้อตกลงฯ ทั้งนี้ เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลที่ยุโรปประกาศว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของตูนิเซียที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำและมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง เนื่องจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีซาอิด
 
        โดยทั้งอิตาลีและสหภาพยุโรปกังวลว่าถ้าเศรษฐกิจของตูนิเซียพังทลายในเวลานี้ ตูนิเซียจะไม่สามารถสกัดผู้อพยพได้ และจำนวนผู้อพยพในยุโรปจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งจะซ้ำเติมวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
 
 
"เป้าหมายการให้ความช่วยเหลือ"
 
        นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ทุกฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงฉบับนี้ได้ โดยระบุว่าข้อตกลงนี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป และข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ฉบับนี้มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแก่ตูนิเซียครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่
 
1. ผู้อพยพ
2. เสถียรภาพของเศรษฐกิจตูนิเซียในระดับมหภาค
3. การค้าและการลงทุน
4. การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสีเขียว
5. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในตูนิเซีย
 
        นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปยังได้แถลงว่า สหภาพยุโรปจะมอบเงินช่วยเหลือมูลค่ากว่า 100 ล้านยูโร หรือราว 4,000 ล้านบาทให้แก่ตูนิเซีย เพื่อต่อต้านกลุ่มลักลอบขนย้ายผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย ตลอดจนค้นหาและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
 
 
อ้างอิง