ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป

ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ต.ค. 2567

| 89 view
ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป

 

  • ไทยและสหภาพยุโรป (อียู) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2505 (ค.ศ. 1962) โดยต่อมาไทยได้ตั้งคณะผู้แทนประจำประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2505 (ค.ศ. 1962) และอียูได้จัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรปที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2521 (ค.ศ. 1978) ซึ่งเป็นคณะผู้แทนฯ แห่งแรกของอียูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • อียูเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่สำคัญของโลก มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเมือง ความมั่นคง ค่านิยม และมาตรฐานสากล มีสมาชิกจำนวน 27 ประเทศที่มีนโยบายร่วมกันหลายด้านในทิศทางเดียวกัน จึงมีอิทธิพลและสามารถสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของไทยได้ในระดับสูง
  • ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอียูมีพลวัตที่ดี ฝ่ายอียูกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับไทยอย่างเต็มรูปแบบภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในไทยเมื่อปี 2562 (ค.ศ. 2019) ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะมนตรีแห่งอียู ด้านการต่างประเทศ (Foreign Affairs Council: FAC) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 (ค.ศ. 2019) ที่ให้เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับไทย ซึ่งรวมถึงการสานต่อการเจรจาความตกลงต่าง ๆ ที่คั่งค้าง โดยเฉพาะกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก ซึ่งได้มีการลงนามในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ (ASEAN-EU Commemorative Summit) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 (ค.ศ. 2022) และความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 (ค.ศ. 2023) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะนั้น (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายบริหารและคณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (นาย Valdis Dombrovskis) ได้ร่วมกันแถลงข่าวประกาศรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู โดยสองฝ่ายตั้งเป้าหมายคร่าว ๆ ("tentative deadline") ให้การเจรจาแล้วเสร็จภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025)
  1. PCA ไทยและสหภาพยุโรปได้ลงนาม PCA ในห้วงการประชุม ASEAN-EU Commemorative Summit ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 (ค.ศ. 2022) โดยสภายุโรปได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบความตกลง PCA แล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 (ค.ศ. 2023) สำหรับฝ่ายไทยนั้นรัฐสภามีมติเห็นชอบกรอบความตกลง PCA เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 (ค.ศ. 2024) ฝ่ายไทยได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายอียูว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นเสร็จสิ้นสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และระบุส่วนของกรอบความตกลงPCA ที่ประสงค์จะใช้บังคับไปพลางก่อน ซึ่งไทยและอียูสามารถเริ่มดำเนินการตามสาขาความร่วมมือในส่วนที่อยู่ในอำนาจที่อียูมีเหนือรัฐสมาชิกไปพลางก่อนได้ หรือที่เรียกว่า Provisional Application
  2. การเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ภายหลังการประกาศฟื้นการเจรจาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 (ค.ศ. 2023) สองฝ่ายได้หารือกันในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส/หัวหน้าคณะเจรจาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 (ค.ศ. 2023) ที่ประเทศไทยเพื่อวางแผนการเจรจา และได้เจรจาไปแล้ว 3 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 18-22 กันยายน 2566 (ค.ศ. 2023) รอบที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22-26 มกราคม 2567 (ค.ศ. 2024)
    และรอบที่ 3 ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 17-21 มิถุนายน 2567 (ค.ศ. 2024) โดยมีกำหนดการเจรจาอีกสองรอบ ได้แก่ รอบที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 (ค.ศ. 2024) และรอบที่ 5 ที่กรุงบรัสเซลส์ ในเดือนมีนาคม 2568 (ค.ศ. 2025) เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจาฯ ภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ตามที่ทั้งสองฝ่ายเคยตกลงเป็นการเบื้องต้นกันไว้ อย่างไรก็ดี มีประเด็นท้าทายในการเจรจา FTA อาทิ (1) การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (2) การแข่งขันรัฐวิสาหกิจ (3) ทรัพย์สินทางปัญญา และ (4) พลังงานและวัตถุดิบ เป็นต้น  
  3. เศรษฐกิจ
  •                 การค้า ภาพรวมในปี 2566 (ค.ศ. 2023) อียูเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 4 ของไทย (รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มีมูลค่าการค้ากับไทย 41,712.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.75 มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 7.27 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับทั่วโลก โดยไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 21,958.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.68 และไทยนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 19,753.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.55 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,205.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  1. การลงทุน อียูเป็นนักลงทุนรายใหญ่ลำดับ 6 ของไทย (รองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และอาเซียน) มูลค่าการลงทุนของอียูในไทยประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับไทยมีการลงทุนในอียูประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1) กลุ่มธุรกิจสำคัญของอียูที่ลงทุนในไทย ได้แก่ European Association for Business and Commerce: EABC (บริษัทที่เป็นสมาชิก เช่น Standard Chartered, BMW, Mercedes-Benz, BASF, Moet, Hennessy, Mazars, Bayer) และ Thai European Business Association: TEBA (บริษัทที่เป็นสมาชิก เช่น Continental, DHL, Ducati, Michelin, Bosch) (2) กลุ่มธุรกิจไทยรายสำคัญที่ลงทุนในอียู ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น จำกัด บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกแรนซ์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงแรมเครือดุสิตธานี บริษัท Thai-Pranda Jewelry บริษัทอินโดรามาเวนเจอร์ส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน) บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG)
  2. ความร่วมมือด้านมาตรฐานการทำประมง อียูประกาศให้ “ใบเหลือง” แก่ไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 (ค.ศ. 2015) เพื่อเตือนให้ไทยแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated: IUU) มิฉะนั้นอาจถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ(non-cooperating third country) และถูกให้ “ใบแดง” ซึ่งจะนำไปสู่การห้ามนำเข้าสินค้าประมงสู่ตลาดอียู ทำให้รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU และปัญหาแรงงานในภาคประมงเป็นวาระแห่งชาติหลังจากที่ไทยได้ปฏิรูปอุตสาหกรรมประมงโดยได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากอียู อียูจึงได้ประกาศปลดใบเหลืองให้แก่ไทยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 (ค.ศ. 2019) เพื่อแสดงการยอมรับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทยที่มีผลเป็นรูปธรรมและเป็นมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมาสองฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันการทำประมง IUU ผ่านกลไก Thai-EU Working Group on IUU Fishing ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 7) จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 (ค.ศ. 2024)
  •                ฝ่ายไทยยังคงการมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายอียูอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 (ค.ศ. 2024) นาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้หยิบยกประเด็น IUU รวมทั้งประเด็นด้านเกษตรอื่น ๆ และ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา (2) นางชาลินา วิตเชวา (Ms. Charlina Vitcheva) ตำแหน่ง Director-General ของคณะกรรมาธิการยุโรปด้านประมงและทะเล (Directorate-General for Maritime Affairs and Fisheries: DG MARE) ได้เยือนไทยในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 (ค.ศ. 2024) เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการต่อต้านประมง IUU และการแก้ไขกฎหมายประมงของไทยร่วมกับผู้แทนระดับสูงของไทยในระดับต่าง ๆ (3) เมื่อวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 (ค.ศ. 2024) ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับอียูในการต่อต้านการประมง IUU ครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ
  1. ด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ (กรมยุโรป) อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีกลไกการบูรณาการการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิรูปยุโรปสีเขียว (European Green Deal: EGD) ของอียูในระดับชาติที่เหมาะสม ทั้งนี้ มาตรการสำคัญภายใต้ EGD ที่ภาคเอกชนไทยห่วงกังวลและคาดว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง อาทิ การปรับค่าคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products: EUDR) โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กรมยุโรปและเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนการเตรียมพร้อมสำหรับกฎหมายทั้งสองรายการให้กับเอกชนไทยอย่างทันท่วงที และเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 (ค.ศ. 2023) อธิบดีกรมยุโรปได้จัดการประชุมกับผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม (Directorate-General for the Environment: DG ENV) ของอียู และคณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทยโดยมีหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือเกี่ยวกับผลเบื้องต้นของการศึกษาที่จัดทำโดยฝ่ายอียูเกี่ยวกับผลกระทบของ EUDR ต่อไทย การดำเนินการที่ผ่านมาของหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องกับ EUDR การสอบถามในประเด็นที่หน่วยงานไทยสงสัย ตลอดจนการสะท้อนประเด็นความร่วมมือที่ฝ่ายไทยต้องการผลักดันกับฝ่ายอียูเพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับ EUDR ให้กับภาครัฐและเอกชนไทย
  2. ด้านมาตรฐานการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เน้นให้มีการหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมาย EU Directive on Corporate Due Diligence and Corporate Accountability ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทในอียูต้องตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลตลอดห่วงโซ่การผลิตของตน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจไทย
  3. ด้านมาตรฐานภาษี ไทยได้เข้าเป็นภาคีในความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: CbC MCAA) เพื่อให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล
    การจัดเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และป้องกันไม่ให้ไทยถูกขึ้นบัญชีประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของอียู
  4. ด้านมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไทยร่วมรับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Joint Declaration on Privacy and the Protection of Personal Data) ที่รับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ณ กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ค.ศ. 2022) โดยจะขยายผลให้เกิดยกระดับมาตรฐานด้านนี้ของไทยต่อไป
  5. 10. ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนา ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปยังไม่มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี อียูได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นของไทยหลายแห่งเพื่อส่งเสริมศักยภาพของไทยในหลายมิติ อาทิ การพัฒนาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การส่งเสริมศักยภาพภาครัฐของไทยในการแข่งขันทางการค้า และการส่งเสริมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ผ่านกรอบ ASEAN Regional Integration Support by the EU (ARISE PLUS) รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคในกรอบ ASEAN-EU นอกจากนี้ อียูยังมีโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาในระดับที่เปิดให้ไทยเข้าร่วมได้ อาทิ โครงการ SWITCH-Asia ซึ่งมีเป้าหมายในการสนับสนุนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ประสานงาน การจัดทุนส่งเสริมการศึกษา อบรม วิจัย (Erasmus Mundus และ Erasmus+) และทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม (Horizon Europe) ให้แก่นักศึกษา นักวิจัย และสถาบันการศึกษาและวิจัยทั่วโลก ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลักของไทย
  6. ความร่วมมือในภาคนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 (ค.ศ. 2022) คณะผู้แทนรัฐสภา นำโดยนายกิตติ วะสีนนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศคนที่หนึ่ง วุฒิสภา และนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม โฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการประชุม Thailand-EU Interparliamentary Meeting (IPM) ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยฝ่ายอียูมีนาย Tomasz Poreba รองประธาน European Parliament Delegation for Relations with the Countries of Southeast Asia and ASEAN (DASE) เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ผ่านมุมมองของสถาบันนิติบัญญัติโดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนแสวงหาโอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปผ่านความตกลง PCA การเจรจา FTA ความร่วมมือภายใต้กรอบลุ่มน้ำโขงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของอียูที่มีผลกระทบต่อไทย โดยเฉพาะกฎหมาย EUDR

 

*********

 

 

 

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
16 กันยายน 2567

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

FS_-_ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย_-_อียู_as_of_10_OCT_for__01_ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป.pdf