ผลการจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity

ผลการจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 7,470 view

ผลการจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity

          เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity ณ โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ โดยมี          นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และ ดร.พิเชฐ    ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นาย Gil S. Beltran ปลัดกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ นาย Pirkka Tapiola เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) องค์การระหว่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และเยาวชน จากภูมิภาคเอเชียและยุโรปเข้าร่วมกว่า ๒๕๐ คน 

          ในช่วงพิธีเปิด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างสองภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบ ASEM โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการจัดสัมมนานี้ ระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พร้อมทั้งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของไทยในฐานะประธานอาเซียนประจำปี ๒๕๖๒ ในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความเชื่อมโยงในทุกมิติ ตามที่ไทยได้ประกาศไว้ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๔ ณ กรุงเทพฯ และการประชุมผู้นำ G20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒

          ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียและยุโรปมีความสำคัญในด้านความมั่นคง สันติภาพ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอเชียและยุโรปที่จะได้หารือถึงแนวทางที่เอเชียและยุโรป   จะมีความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง           การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ซึ่งมีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ สำหรับประชาชน เพื่อรับมือกับ      ความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประชาชน รวมถึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับประชาชนสำหรับอาชีพในอนาคต  นอกจากนี้ ยังเสนอให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อเสริมสร้างความเชื่อใจกันและส่งเสริมธรรมาภิบาลทางดิจิทัลร่วมกันด้วย

          นอกจากการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนระดับสูงอื่น ๆ แล้ว ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน     องค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการ ทั้งจากภูมิภาคเอเชียและยุโรป ได้เข้าร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในระหว่างการอภิปรายภายใต้หัวข้อหลัก ๓ หัวข้อ ได้แก่ (๑) การส่งเสริมทักษะสำหรับทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล  (๒) การส่งเสริมการพัฒนาด้านการตลาดและเศรษฐกิจดิจิทัล และ (๓) ความมั่นคงด้านดิจิทัลและความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนระหว่างเอเชียและยุโรป

          นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก ASEM ในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร เพื่อรองรับความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลที่ยั่งยืนด้วย ซึ่งประเทศไทยจะได้นำข้อเสนอแนะและผลลัพธ์จากการประชุมรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๔ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ที่กรุงมาดริดต่อไป

*************************

สามารถดาวน์โหลดรูปภาพเพิ่มเติมสำหรับงานสัมมนาได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1jXi9gTrdwQGrZWJA8wMWVfgzg8I2iECe

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ