บทความ - การพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของสหภาพยุโรป

บทความ - การพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,446 view

          ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙ ตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๖๓ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเป็นระลอกที่ ๓ ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ความหวังที่จะควบคุมโรคระบาดนี้ ยังคงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-๑๙ และการกระจายวัคซีนฯ ให้แก่ประชากรอย่างทั่วถึงเป็นสำคัญ
          สหภาพยุโรปเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนฯ และมีแผนงานที่ครอบคลุมอย่างรอบด้านโดยสามารถประมวลแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่น่าสนใจได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ของสหภาพยุโรป

          เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ของสหภาพยุโรป (EU Strategy for COVID-19 Vaccines) เพื่อเร่งการผลิตและพัฒนาวัคซีนฯ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้ได้ภายในเวลา ๑๒-๑๘ เดือน ซึ่งโดยปกติแล้วกระบวนการพัฒนาวัคซีนนั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาประมาณ ๑๐ ปี ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดเสาหลักที่สำคัญ ๒ ประการ คือ (๑) การผลิตวัคซีนฯ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในปริมาณที่เพียงพอสำหรับประชากรในสหภาพยุโรป ผ่านการจัดทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า (Advance Purchase Agreement – APA) กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ รายต่างๆ รวมทั้งการใช้กลไกสนับสนุนฉุกเฉินและการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมอุดหนุนกระบวนการพัฒนาวัคซีนฯ (๒) การปรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปให้สอดคล้องกับความเร่งด่วน โดยเฉพาะขั้นตอนการรับรองวัคซีนที่คำนึงถึงมาตรฐานของคุณภาพวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ
          ภายในระยะเวลา ๔ เดือน (สิงหาคม-พฤศจิกายน ๒๕๖๓) สหภาพยุโรปสามารถสั่งซื้อวัคซีนฯ ล่วงหน้า ภายใต้ข้อตกลง APA กับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ รวม ๖ ราย ได้แก่ (๑) BioNTech-Pfizer (๒) Moderna (๓) CureVac (๔) AstraZeneca (๕) Johnson & Johnson/Janssen Pharmaceuticals และ (๖) Sanofi-GSK และนับถึงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ องค์การด้านยาของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency – EMA) ได้รับรองวัคซีนฯ สำหรับใช้ภายในเขตสหภาพยุโรป/จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกแล้ว จำนวน ๔ ชนิด ได้แก่ BioNTech-Pfizer, Moderna, AstraZeneca และวัคซีนฯ ที่พัฒนาโดยบริษัท Janssen Pharmaceuticals (ภายใต้ Johnson & Johnson) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ใช้ฉีดเพียงครั้งเดียว โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ร้อยละ ๖๗

แผนการกระจายและการฉีดวัคซีนฯ

          จนถึงมีนาคม ๒๕๖๔ สหภาพยุโรปสามารถสำรองวัคซีนฯ จากบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนฯ ได้มากถึง ๒.๖ พันล้านโดส โดยคาดว่าภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ จะมีวัคซีนฯ พร้อมใช้งานในยุโรปจำนวน ๓๐๐ ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ประชากร ๑ ใน ๓ ของสหภาพยุโรปได้รับการฉีดวัคซีนฯ และภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๔ สหภาพยุโรปจะมีวัคซีนฯ อย่างน้อย ๗๐๐ ล้านโดส ซึ่งมีปริมาณที่มากพอสำหรับร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมดในสหภาพยุโรป
          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๔ คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดเป้าหมายในการฉีดวัคซีนฯของสหภาพยุโรป โดยให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของกลุ่มประชากรที่มีอายุเกิน ๘๐ ปี และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพและสังคมในทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ และให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ ๗๐ ของประชากรวัยผู้ใหญ่ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๔
          จากสถิติและเป้าหมายข้างต้นดูเหมือนว่าสหภาพยุโรปกำลังเข้าใกล้เป้าประสงค์ที่วางไว้ในยุทธศาสตร์ฯ แต่ทว่าการกระจายวัคซีนฯ ให้แก่ประเทศสมาชิกนั้นกลับมีความล่าช้า เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ อาทิ BioNTech-Pfizer และ AstraZeneca ประสบปัญหาในสายการผลิต ทำให้ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนฯ ให้สหภาพยุโรปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และแม้สหภาพยุโรปจะเป็นภูมิภาคแรกๆ ที่เริ่มฉีดวัคซีนฯ ให้แก่ประชากรตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ (เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๓) แต่ปัจจุบันสหภาพยุโรปสามารถฉีดวัคซีนฯ ให้ประชากรได้เพียงร้อยละ ๑๐.๙๙ ซึ่งล่าช้ากว่าบางประเทศ อาทิ อิสราเอล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยประเทศสมาชิกที่สามารถฉีดวัคซีนฯ ให้ประชาชนได้มากที่สุด คือ มอลตา ร้อยละ ๑๗.๖ ของประชากร (สถานะ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๔)

ความท้าทายในการบริหารจัดการวัคซีนฯ ของคณะกรรมาธิการยุโรป

          ปัญหาการกระจายวัคซีนฯ ล่าช้าที่เกิดจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (ซึ่งได้รับมอบหมายจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้เป็นผู้เจรจาจัดซื้อวัคซีนฯ กับบริษัทต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันและการเสนอราคาระหว่างกัน) ไม่ได้รับวัคซีนฯ ตามกำหนด ได้ทำให้หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มตัดสินใจดำเนินการตามแนวทางของตนในการจัดซื้อวัคซีนฯ อาทิ ฮังการีที่ได้บรรลุข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนฯ จาก Sinopharm ของจีนและวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย สโลวาเกีย อยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัคซีน Sputnik V โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนชุดแรกภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ นี้ และโครเอเชีย มีแผนที่จะสั่งซื้อวัคซีน Sputnik V เช่นกัน รวมถึงกรณีของเดนมาร์กและออสเตรียที่ได้ทำข้อตกลงกับอิสราเอลในการพัฒนาวัคซีนร่วมกัน
          ในประเด็นการเสนอขายวัคซีน Sputnik V ให้แก่ประเทศต่างๆ ของรัสเซีย นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดรัสเซียจึงเสนอขายวัคซีนฯ จำนวนหลายล้านโดสให้กับประเทศต่างๆ ในขณะที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรในการฉีดวัคซีนฯ ให้กับประชาชนภายในประเทศของตน อย่างไรก็ดี EMA ได้เริ่มกระบวนการตรวจสอบเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีน Sputnik V ของรัสเซียในเขตสหภาพยุโรปแล้ว หลังจากที่ทางบริษัทได้ยื่นคำร้องขออนุมัติตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เน้นย้ำไว้ก่อนหน้านี้ว่า สหภาพยุโรปไม่ได้ตัดทางเลือกที่จะซื้อวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย และยืนยันว่าไม่มีเรื่องชาตินิยมในยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนฯ นอกจากนี้ EMA ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรประงับการอนุมัติใช้วัคซีน Sputnik V ในระดับประเทศไปพลางก่อน เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวอยู่ระหว่างการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยโดย EMA ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาประเมินจากผลการศึกษาทางคลินิกและผลวิจัยต่างๆ ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับรองให้ใช้ในเขตสหภาพยุโรปได้ต่อไป

บทบาทของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวัคซีนฯ

          สหภาพยุโรปยึดมั่นในหลักการ “No one will be safe until everyone is safe” ในการจัดสรรวัคซีนฯ ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ผ่านการสนับสนุนกลไกระดับโลก COVID-19 Vaccines Global Access Facility (COVAX Facility) ซึ่งสหภาพยุโรปได้สนับสนุนเงินรวมจำนวน ๑ พันล้านยูโร โดยหวังว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้สหภาพยุโรปบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงวัคซีนฯ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงสำหรับทุกคนทั่วโลก นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้แสดงความพร้อมที่จะแบ่งปันวัคซีนฯ ส่วนเกินจากจำนวนทั้งหมดที่สำรองไว้ (ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการฉีดวัคซีนฯ ให้กับประชากรสหภาพยุโรป) ให้กับมิตรประเทศและภูมิภาคต่างๆ เช่น ประเทศหุ้นส่วนในยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา และแอฟริกาด้วย
           กระแสวิพากษ์วิจารณ์สหภาพยุโรปเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนฯ ทั้งจากประชาชนในสหภาพยุโรปรวมถึงประชาคมโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การจัดหาและการกระจายวัคซีนฯ ที่ล่าช้าตามหลังหลายประเทศ กระแสการจัดหาวัคซีนฯ เองของประเทศสมาชิก ตลอดจนการออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนฯ ที่ผลิตในยุโรปไปยังประเทศที่สาม สะท้อนความคาดหวังของประชาคมโลกต่อบทบาทของสหภาพยุโรปในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ รวมถึงในการสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงวัคซีนฯ ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในราคาที่ยอมรับได้สำหรับประชาชนทุกคนที่กำลังถูกท้าทายอย่างรอบด้าน ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสหภาพยุโรปจะรับมือและจัดการกับความท้าทายนี้ต่อไปอย่างไร

*******

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
มีนาคม ๒๕๖๔

 

Credit รูปภาพปก: (https://www.biopharma-reporter.com/Article/2020/08/18/AstraZeneca-J-J-and-Sanofi-GSK-set-to-sell-up-to-1.1bn-COVID-19-vaccines-to-EU)