การใช้สัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นสวิสกับผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์

การใช้สัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นสวิสกับผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,531 view

การใช้สัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นสวิสกับผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นได้ประมวลสรุปเรื่องการใช้สัญลักษณ์บ่งชี้ความเป็นสวิสกับผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์ ดังนี้

๑. การใช้สัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์ (“Swiss” indication of source)

    ๑.๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ เป็นต้นมา สวิตเซอร์แลนด์ได้ใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า (Trade Mark Protection Act: TmPA) ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งนิยมเรียกว่ากฎหมายว่าด้วยความเป็นสวิส (Swissness) ซึ่งประกอบด้วย (๑) กำหนดเกณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถบ่งบอกความเป็นสวิสหรือการใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงสวิตเซอร์แลนด์ เช่น การติดป้าย Made in Switzerland และการใช้กากบาทของธงชาติสวิสหรือเทือกเขา Matterhorn เป็นต้น และ (๒) ให้อำนาจสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาสวิส (Switzerland Federal Institute of Intellectual Property: IGE/IPI)[1] ในการตรวจสอบและขอให้ศุลกากรสวิสทำลายผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดการใช้กากบาทของธงชาติสวิส หรือตราแผ่นดินสวิส ซึ่งนอกจากจะเป็นป้องปรามไม่ให้มีการนำแบรนด์ “Swiss”[2] ไปใช้โดยมิชอบแล้ว ยังช่วยให้บริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมายสามารถแข่งขันได้ในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ เครื่องมือที่จะช่วยในการบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้การรับรองแหล่งกำเนิด (protected designations of origin: PDOs) หรือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (protected geographical designations: PGIs) เช่น ชีส “Gruyère” และ ไวน์ “Epesses” (รัฐโว) สามารถขึ้นทะเบียนทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำคำเรียก/ชื่อดังกล่าวไปใช้ได้อีกทั้งในสวิตเซอร์แลนด์และในต่างประเทศ

    ๑.๒ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้กำหนดกฎเกณฑ์และบริการแต่ละประเภทที่สามารถอยู่ภายใต้แบรนด์ “Swiss” ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของ (๑) สินค้า (Origins of goods) ต่าง ๆ เช่น สถานที่เพาะปลูก สถานที่สกัด หรือสถานที่ผลิต และ (๒) บริการ (Origins of services) ซึ่งจะต้องจดทะเบียนและมีสถานที่ให้บริการในสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี บางขั้นตอนการผลิตหรือวัตถุดิบบางอย่างไม่สามารถดำเนินการหรือหาได้ในสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการเปิดช่องให้สามารถระบุความเป็นสวิสตามรายขั้นตอนได้เช่นกัน เช่น “Smoked in Switzerland หรือ “Designed in Switzerland” แต่ต้องไม่ใช้สัญลักษณ์กากบาทของธงชาติสวิสในกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้บริโภคอาจจะตีความรวมว่าแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดและตลอดทุกขั้นตอนการผลิตมาจากสวิตเซอร์แลนด์

    ๑.๓ ผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์มีชื่อเสียงและค่านิยมของความพิเศษ (exclusivity) การสืบทอดจากอดีต (tradition) ความแม่นยำ (precision) ความหรูหรา (luxury) เทคโนโลยีขั้นสูง (high technology) นวัตกรรม (innovation) คุณภาพ (quality) และความน่าเชื่อถือ (reliability) โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ETH ซูริก และมหาวิทยาลัย St. Gallen พบว่า ผลิตภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์มีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์จากที่อื่น ทำให้หลายธุรกิจนำความเป็นสวิส (Swissness) ไปใช้โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ของการระบุหรือใช้สัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์

    ๑.๔ ผลการศึกษาโดยหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจและที่ปรึกษาอิสระพบว่าในปี ๒๕๖๓ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้เฉพาะภายในประเทศ สถาบัน IPI จัดตั้งสมาคม Association for Swissness Enforcement โดยรวบรวมพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนสวิส ๑๓ ราย จากสมาคมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกันในการติดตามและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับการละเมิดด้วยการนำสัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์ไปใช้โดยมิชอบในต่างประเทศด้วย

๒. การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์สวิส (counterfeit “Swiss” products)

    ๒.๑ ผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ตามที่ได้รับมอบหมายจากสถาบัน IPI สวิส ระบุว่า การค้าผลิตภัณฑ์ที่ปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์สวิสก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจรวมถึงปัญหาด้านสุขภาพในบางกรณี โดยเมื่อปี ๒๕๖๑ พบการหลอกขายผลิตภัณฑ์สวิสปลอมทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า ๒ พันล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ ๖.๘ หมื่นล้านบาท) ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของธุรกิจสวิสและสูญเสียรายได้กว่า ๔.๕ พันล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ ๙ พันล้านบาท) และเป็นการปิดกั้นโอกาสการจ้างงานอีกด้วย การปลอมแปลงผลิตภัณฑ์พบบ่อยขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบอีกว่า แม้แต่ภาครัฐก็สูญเสียรายได้เกือบ ๑๖๐ ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ ๓๒๐ ล้านบาท) จากการปลอมแปลงดังกล่าว

    ๒.๒ สถาบัน IPI และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น Promarca (Swiss association for brand-name products) และ STOP PIRACY (Swiss Anti-counterfeiting and Privacy Platform) ดำเนินโครงการรณรงค์และเสริมสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภค และการติดตามตลาดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สวิสที่สำคัญ เพื่อยับยั้งการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์สวิส อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกนี้จะเป็นพื้นฐานที่เป็นรูปธรรมสำหรับหน่วยงานในการกำหนดนโยบายเพื่อเปิดโปงและยุติการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์สวิสอย่างมีเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

******************************

กองยุโรปกลาง

กรมยุโรป

มิถุนายน ๒๕๖๔

 

[1] สถาบัน IPI สวิส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๓๑ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การออกแบบและลิขสิทธิ์ของสินค้าและบริการซึ่งบุคคลหรือบริษัทสวิสสามารถจดทะเบียนผลงานการคิดค้นหรือกการผลิตเพื่อป้องกันการถูกคัดลอกได้

[2] เป็นการกล่าวโดยรวมบ่งบอกถึงความเป็นสวิส (Swissness) ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีแบรนด์ “Swiss”

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ