การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของเดนมาร์ก
การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของเดนมาร์ก
วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
| 2,788 view
การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของเดนมาร์ก
- เดนมาร์กได้ประกาศเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด (100% renewable electricity generation) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และคาดว่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๔ เดนมาร์กใช้พลังงานลมเป็นหลักและมีการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเพียงร้อยละ ๔๕ เท่านั้น ต่อมา ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ มีการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๘๖.๔
- เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการใช้เทคโนโลยีหมุนเวียนและการผลิตพลังงานลม โดยมีฐานการผลิตของบริษัทกังหันลมที่มีสมรรถภาพระดับโลกตั้งอยู่ในประเทศ อาทิ บริษัท Siemens และบริษัท Vestas ทั้งนี้ กังหันลมจะถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ที่ศูนย์ทดสอบพลังงานสีเขียวแห่งชาติทางตะวันตกเฉียงเหนือของ เกาะ Jutland ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีศักยภาพของเดนมาร์กในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
- รัฐบาลเดนมาร์กเน้นความสำคัญด้านการพัฒนาฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง โดยคาดว่ากำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งจะมีปริมาณที่มากกว่าการผลิตพลังงานลมบนบกภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ รัฐบาลมีแผนจะสร้างเกาะพลังงานขึ้นใหม่ (Artificial Island) บนทะเลเหนือ เพื่อสร้างแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบนเกาะจะประกอบไปด้วยกังหันลมจำนวนมากที่มีประสิทธิภาพในการให้พลังงานมากที่สุดถึง ๑๐ ล้านครัวเรือน ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้พลังงานภายในประเทศ และยังสามารถแบ่งปันให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
- เกาะพลังงานดังกล่าวถือเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายของเดนมาร์กในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ ๗๐ ภายในทศวรรษหน้า ทั้งนี้ เกาะพลังงานจะเชื่อมโยงกับกังหันลมนอกชายฝั่งและจ่ายพลังงานให้แก่ครัวเรือนรวมทั้งไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง แม้ว่าการสร้างเกาะพลังงานจะใช้งบประมาณในการลงทุนสูง แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากจะช่วยพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสีเขียวของประเทศ
- แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ร้อยละ ๗๐ ของเดนมาร์ก ตามข้อตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการหยุดผลิตโรงงานถ่านหินและปิโตรเลียมภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ในขณะที่ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวลให้มากยิ่งขี้น
*************************
กรมยุโรป
กองยุโรปกลาง
ตุลาคม ๒๕๖๔