การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ต.ค. 2567

| 218 view

 

การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

  

  1. ภูมิหลัง

    1.1. แนวคิดการจัดตั้งเวทีการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ ค.ศ. 1990 ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างกลุ่มขั้วมหาอำนาจที่โดดเด่นในขณะนั้น ได้แก่ เอเชีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) และโดยที่ในกลุ่มเอเชียมีการเชื่อมโยงระหว่างกันผ่าoกรอบอาเซียน + 3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) และเอเชียและสหรัฐฯ ก็ได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ขึ้นมา สิงคโปร์และฝรั่งเศสจึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะจัดตั้งกรอบการประชุมที่จะเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกัน โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรปได้สำเร็จ และเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งแรก (ASEM 1) เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม 2539 (ค.ศ.1996) ที่กรุงเทพฯ
    1.2. ASEM มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้นำจากเอเชียและยุโรปพบหารือในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ
    เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ความร่วมมือในกรอบ ASEM ครอบคลุม 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) การเมือง 2) เศรษฐกิจ 3) สังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ เน้นการหารือ (dialogue) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างสองภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ
    โดยเป็นกรอบความร่วมมือระดับผู้นำกรอบเดียวระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปในขณะนี้
    1.3. ปัจจุบัน ASEM มีสมาชิก 51 ประเทศ และ 2 องค์กร รวม 53 ราย ดังนี้ (1) ประเทศยุโรป 30 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ (2) ประเทศเอเชีย 21 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ และกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียใต้ (North East and South Asia: NESA) 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย บังกลาเทศ และคาซัคสถาน (3) องค์กรระดับภูมิภาค 2 องค์กร ได้แก่ อียูและสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ สมาชิก ASEM มีประชากรรวมประมาณร้อยละ 60 ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP รวมประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมมากกว่าร้อยละ 60 ของการค้าทั่วโลก

 

  1. กลไกการทำงานและการประชุมต่าง ๆ ในกรอบ ASEM
    2.1. ASEM ไม่มีสำนักเลขาธิการ ทำให้การประสานกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ดำเนินการผ่านผู้ประสานงานของแต่ละประเทศ (ASEM Contact Point) รวมทั้งมีการมอบหมายให้มีผู้ประสานงานหลักของแต่ละภูมิภาค (Regional Coordinator) ปัจจุบัน ผู้ประสานงานฝ่ายยุโรป ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศของอียู (European External Action Service: EEAS) และฮังการีในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งอียู ช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2567 (ค.ศ. 2024) ในส่วนของฝ่ายเอเชีย เวียดนามเป็นผู้ประสานงานช่วงปี 2566 (ค.ศ. 2023) – 2567 (ค.ศ. 2024) วาระ 2 ปี ภายหลังจากทำหน้าที่ผู้ประสานงานของไทยเมื่อปี 2564 (ค.ศ. 2021) – 2565 (ค.ศ. 2022)  
    2.2. มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation: ASEF) เป็นองค์กรถาวรเดียวของ ASEM จัดตั้งขึ้นภายหลังการประชุม ASEM 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยเน้นกิจกรรมในภาคประชาสังคม (Track II) ผ่านการติดต่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม (2) การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (3) การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน และ (4) การประชาสัมพันธ์ ASEM โดย ASEF มีสำนักงานตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ และได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากเงินบริจาคโดยสมัครใจของประเทศสมาชิก ปัจจุบัน นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ (อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) ดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำ ASEF
    2.3. การประชุมผู้นำ ASEM กำหนดจัดขึ้นปีเว้นปี (สลับกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ) โดยประเทศสมาชิก ASEM ฝ่ายยุโรปและฝ่ายเอเชียสลับกันเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การประชุมผู้นำ ASEM ได้จัดขึ้นแล้ว 13 ครั้ง ล่าสุด ASEM 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2564 (ค.ศ. 2021) โดยมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพผ่านระบบการประชุมทางไกล
    2.4. การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (Foreign Ministers' Meeting: FMM) ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 14หรือ FMM 14) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2562 (ค.ศ. 2019) ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
    2.5. ASEM ยังมีการประชุมระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในสาขาอื่น ๆ ได้แก่ การศึกษา เศรษฐกิจการคลัง คมนาคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมทั้งการประชุมในหัวข้อเฉพาะ อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย สิทธิมนุษยชน และการจัดการภัยพิบัติ
  2. การประชุมสำคัญในกรอบ ASEM ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ อาทิ (1) ASEM Customs Trade Day ครั้งที่ 3 วันที่ 17 กันยายน 2555 (ค.ศ. 2012) (2) ASEM Finance Ministers' Meeting ครั้งที่ 10 วันที่ 14-15 ตุลาคม 2555 (ค.ศ. 2012) (3) ASEM Meeting for Governors and Mayors
    ครั้งที่ 3 วันที่ 11-13 มีนาคม 2558 (ค.ศ. 2015) (4) ASEM Symposium on the Future Direction of ASEM และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM (SOM) วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน 2558 (ค.ศ. 2015) (5) ASEM High-Level Meeting on Marine Sustainability วันที่ 7-8 มีนาคม 2562 (ค.ศ. 2019) (6) ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity
    วันที่ 25 ตุลาคม 2562 (ค.ศ. 2019) (7) ASEM Workshop on Youth Learner Mobility in an Agile World (ออนไลน์) วันที่ 23-24 กันยายน 2564 (ค.ศ. 2021) (8) ASEM Education Ministers' Meeting ครั้งที่ 8 (ออนไลน์) วันที่ 15 ธันวาคม 2564 (ค.ศ.2021) และ (9) การประชุม ASEF Board of Governors ระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน (ค.ศ. 2022)

 
************************

กรมยุโรป

กองสหภาพยุโรป

22 ตุลาคม 2567