การควบคุมการแพร่กระจายของตัวกินูนญี่ปุ่นในสวิตเซอร์แลนด์

การควบคุมการแพร่กระจายของตัวกินูนญี่ปุ่นในสวิตเซอร์แลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,361 view

การควบคุมการแพร่กระจายของตัวกินูนญี่ปุ่นในสวิตเซอร์แลนด์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นได้ประมวลสรุปเรื่องการควบคุมการแพร่กระจายของด้วงกินูนญี่ปุ่น
ในสวิตเซอร์แลนด์ ดังนี้

๑. ด้วงกินูนญี่ปุ่น (Japanese beetle)

๑.๑ ด้วงกินูนญี่ปุ่นมีความยาว ๘ – ๑๒ มิลลิเมตร และมีลักษณะเฉพาะ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ปล้องอกมี
สีเขียวทองวาวแบบโลหะ (๒) มีปอยขนสีขาว ๕ ปอยบริเวณหน้าท้องทั้ง ๒ ด้าน และ (๓) มีปอยขนอีก ๒ ปอยบริเวณส่วนท้ายสุดของหน้าท้อง โดยทั่วไปด้วงกินูนจะฟักตัวในเดือนมิถุนายนและสามารถพบได้มากที่สุด
ในเดือนกรกฎาคม

๑.๒ ด้วงกินูนเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งไม่ได้มีอยู่ดั้งเดิมในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถูกนำเข้ามา โดยพบครั้งแรกในรัฐ Ticino ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อปี ๒๕๖๐ และเริ่มพบว่าสร้างความเสียหายต่อการเกษตรในปี ๒๕๖๓ จากการกินใบ ดอก และผลของพันธุ์พืชหลายชนิด อาทิ เถาองุ่น เบอร์รี่ต่าง ๆ ผลไม้เมล็ดแข็ง ต้นโอ๊ค
ต้นข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นต้น

๒. การควบคุมการแพร่กระจายของด้วงกินูนญี่ปุ่นของสวิตเซอร์แลนด์

๒.๑ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๐ นักวิจัยจากศูนย์ค้นคว้าวิจัยด้านเกษตรกรรม (Agroscope) ภายใต้สำนักงานการเกษตรแห่งสมาพันธรัฐสวิส (Federal Office for Agriculture – FOAG) ได้ทำการทดลองควบคุมและกำจัดด้วงกินูนญี่ปุ่นโดยใช้เชื้อราที่ก่อโรคต่อแมลง (entomopathogenic fungi) โดยพบว่า เชื้อราดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการกำจัดด้วงกินูนที่อยู่ในห้องทดลองได้เกือบทั้งหมดภายใน ๒ – ๓ วัน อย่างไรก็ดี การทดลองดังกล่าวอยู่ในขั้นการพัฒนาเพื่อใช้ในพื้นที่จริง

๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ ศูนย์การค้นคว้า Agroscope ได้มอบหมายให้บริษัทเอกชนจัดทำแผนที่แบบ interactive เพื่อบันทึกการพบเห็นด้วงกินูน ซึ่งสามารถเปิดดูได้ทางเว็บไซด์ www.japankäfer.ch ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถทำให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์รูปแบบการปรากฏของด้วงกินูนได้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยให้สามารถค้นหาไข่ของด้วงกินูนญี่ปุ่นบนพื้นดินซึ่งการกำจัดจะเป็นได้ง่ายกว่าหลังระยะเริ่มฝังตัว

๒.๓ ศูนย์การค้นคว้า Agroscope ได้ร่วมมือกับสถาบันการวิจัยและการเรียนรู้ขั้นสูง (Advanced Learning and Research Institute – AlaRI) ของมหาวิทยาลัย Lugano จัดทำเครื่องมือในการจดจำภาพ (image recognition) เพื่อใช้จำแนกลักษณะของด้วงกินูน

**************************

กรมยุโรป

กองยุโรปกลาง

กรกฎาคม ๒๕๖๔