สหภาพยุโรปปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ เพื่อความยั่งยืนและมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

สหภาพยุโรปปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ เพื่อความยั่งยืนและมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,208 view

สหภาพยุโรป (อียู) อยู่ระหว่างการปฏิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการกักเก็บพลังงาน (Energy storage) โดยอียูมุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วให้เกิดประสิทธิภาพ ความปลอดภัย รวมถึงตอบโจทย์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวงจรชีวิตของสินค้า ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ลดการใช้พลังงาน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไปจนถึงการแปรรูปใช้ใหม่และกำจัดขยะเมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

     - จัดทำฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อแสดงค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต (โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024) และต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ให้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง (โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2027)

     - เพิ่มอัตราการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการรีไซเคิลและจัดการขยะแบตเตอรี่ตามปริมาณที่กำหนดเพื่อส่งเสริมแผนเศรษฐกิจหมุนเวียน

     - การตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทาน (Due diligence) ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

     - การจัดทำ ‘พาสปอร์ตดิจิทัลสำหรับแบตเตอรี่’ หรือ ‘Battery Passport’ ซึ่งอาจเป็นในรูป QR Code เพื่อสื่อสารข้อมูลด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค เช่น แหล่งที่มาของแร่ธาตุหรือวัสดุ รวมทั้งอัตราการหมุนเวียนใช้ซ้ำทรัพยากรและการรีไซเคิล เป็นต้น

ข้อเสนอของรัฐสภายุโรปต่อร่างกฎหมายแบตเตอรี่ฉบับใหม่

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภายุโรป (ENVI) ได้ลงมติรับรองแผนการปฎิรูปกฎหมายแบตเตอรี่ตามที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอ โดยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายฯ เพิ่มเติมใน 4 ประเด็นสำคัญเพื่อผลักดันให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

     1) ขยายคำนิยามของ แบตเตอรี่ ให้ครอบคลุม แบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับพาหนะขนส่งขนาดเล็ก หรือ ‘Light means of transport: LMT’ เช่น จักรยานไฟฟ้า (Electric bicycle) และสกูตเตอร์ไฟฟ้า

     2) การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ถอดเปลี่ยนได้ง่ายเพื่อความสะดวกต่อการบำรุงรักษา โดยเห็นควรให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024 เป็นต้นไป แบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบพกพา เช่น สมาร์ทโฟน และใช้สำหรับพาหนะขนส่งขนาดเล็ก LMT จะต้องออกแบบให้สามารถถอดเปลี่ยนได้โดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้หัวชาร์จแบบเดียวกัน (Common chargers) สำหรับแบตเตอรี่ทั้งหมด

     3) มาตรการตรวจสอบจริยธรรมและความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน โดยต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทำการตรวจสอบ (Due diligence) แหล่งที่มาของแร่ธาตุสำคัญจากต่างประเทศ รวมถึงวัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย (Secondary Raw Materials) เช่น แร่ลิเธียม นิกเกิล แมงกานิส และโคบอลต์ โดยอิงกับมาตรฐานสากล

     4) กําหนดมาตรฐานการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หนักแน่นขึ้นกว่าที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอเพื่อแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้เพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมแบตเตอรี่ชนิดต่างๆ เมื่อหมดอายุการใช้งานไปรีไซเคิลเพิ่มขึ้น ดังนี้

     - แบตเตอรี่แบบพกพา (Portable batteries) จากปัจจุบันร้อยละ 45 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในปี ค.ศ. 2025 (จากเดิมร้อยละ 65) และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในปี ค.ศ. 2030 (จากเดิมร้อยละ 70)

     - แบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับพาหนะขนส่งขนาดเล็ก (LMT) ในปริมาณร้อยละ 75 ในปี ค.ศ. 2025 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้อียูมีระบบกำกับดูแลอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แบบองค์รวมที่เน้นประเด็นความยั่งยืนทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และการส่งเสริมบทบาทของแบตเตอรี่ในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในยุโรป (Energy transition) อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างรากฐานการเป็นผู้นำระดับโลกของอียูด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างแรงจูงใจเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนแก่ผู้ประกอบการแล้วยังจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ขั้นตอนต่อจากนี้ เป็นอย่างไร

ในลำดับต่อไป รัฐสภายุโรปจะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (ฝ่ายบริหาร) และคณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) เพื่อหาข้อสรุปว่า จะมีการเพิ่มเติมข้อเสนอใหม่ ๆ ของรัฐสภายุโรปเข้ามาในร่างกฎหมายฯ หรือไม่อย่างไร โดยมีผู้แสดงความห่วงกังวลว่าท่าทีที่ทะเยอทะยานของรัฐสภายุโรป ทั้งการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วให้สูงขึ้นและการผลักดันให้ร่างกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้เร็วขึ้น และจะสร้างปัญหาในการปฏิบัติ จนอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยุโรปในเวทีการค้าโลก

อียูตั้งเป้าที่จะผ่านกฎหมายแบตเตอรี่ฉบับใหม่ให้ทันภายในปลายปี 2565 (ค.ศ. 2022) นี้ โดยจะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านประมาณ 4 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีช่วงเวลาในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2027  ต่อไป

* * * * *

ที่มา:

https://www.europarl.europa.eu/news/en/press-room/20220202IPR22435/meps-want-to-strengthen-new-eu-rules-for-batteries

https://pro.politico.eu/news/146057