วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ก.ค. 2565
กระแสของรถยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เนื่องจากช่วยลดปัญหาโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรป (อียู) มีการวางแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้คนของประเทศตนเองใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์ใช้น้ำมัน (Internal combustion engine – ICE) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดก๊าซ CO2 และลดภาระรายจ่ายในการนำเข้าน้ำมันแล้ว ยังถือเป็นโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปซึ่งมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีให้ดึงดูดนักลงทุน และรักษาฐานการผลิตรถยนต์ของประเทศไว้ได้
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 สภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปให้มีการยกระดับมาตรฐานการปล่อยก๊าซ CO2 ให้เข้มงวดขึ้นสำหรับรถยนต์ขนาดเล็กและรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (Light duty vehicle) สรุป ดังนี้
1) เพิ่มเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่ในเขตอียูเป็นร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2001 (จากเดิมซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 37.5 ภายในปีเดียวกัน) และลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2035 โดยในส่วนของรถตู้ ให้ลดค่าการปล่อยก๊าซ CO2 เป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 (จากเดิมซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 31) ก่อนลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2035 เช่นเดียวกัน
2) ขยายความทั่วถึงของสถานีชาร์จรถไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าบนเส้นทางสายหลักในทุกระยะ 60 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle – BEV ) และทุกระยะ 150 กิโลเมตร สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Electric Vehicle) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะทำให้ตลาดรถยนต์ขนาดเล็กของยุโรป ซึ่งหมายถึง รถยนต์นั่ง รถตู้ รถโดยสาร และรถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3.5 ตัน ต้องปลอดมลพิษภายในปี ค.ศ. 2035 ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องยุติการขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้น้ำมัน (ทั้งรถยนต์ที่ผลิตในเขตอียู และรถยนต์ที่นำเข้า) ไม่ว่าจะเป็นรถใช้น้ำมันดีเซล หรือเบนซิน รวมถึงรถยนต์ไฮบริด ภายในปี ค.ศ. 2035 และหันไปจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษแทน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการประกาศร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปหลายค่าย เช่น เยอรมนี และอิตาลี ได้ออกมาคัดค้านแผนการดังกล่าว โดยมองว่าแม้เทคโนโลยี EV ในปัจจุบันจะพัฒนาไปมาก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น แบตเตอรี่ยังมีคุณภาพและเสถียรภาพไม่สูงพอ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า รวมทั้งปัญหาความพร้อมด้านทักษะแรงงาน ซึ่งถือเป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างเต็มตัวในยุโรปในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการขาดแคลนชิปซึ่งทำให้การผลิตเกิดการหยุดชะงักหรือผลิตได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณายืดระยะเวลาสำหรับการขายรถยนต์ใช้น้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันสังเคราะห์ (synthetic fuel) ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวเลือกของรถยนต์เชื้อเพลิงปล่อยมลพิษต่ำที่ดี (low-emission vehicle) ออกไปอีกจนถึงปี ค.ศ. 2040 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุครถยนต์ปลอดมลพิษได้อย่างราบรื่น โดยในลำดับต่อไป รัฐสภายุโรปจะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการยุโรป (ฝ่ายบริหาร) และคณะมนตรียุโรป (ประเทศสมาชิก) ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติมข้อเสนอใหม่ๆ เข้ามาในร่างกฎหมายฯ อีก
สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหภาพยุโรป การที่อียูยกระดับมาตรฐานยานยนต์ที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยอนุญาตให้ใช้ยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี 2035 ย่อมส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่ตลาดรถยนต์ใช้น้ำมันถูกลดบทบาทลง ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลให้ไทยควรเร่งปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่าง ๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาตลาดและความสามารถในการแข่งขันต่อไป
ที่มา: https://thaieurope.net/2022/07/19/end-to-combustion-engine-sales-by-2035/
https://pro.politico.eu/news/151388
https://www.politico.eu/article/european-parliament-car-engine-ban/
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)