“การรุกรานของรัสเซียในยูเครนเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างอียูกับสหรัฐฯ ในประเด็นด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งความร่วมมือนี้มีความสำคัญมากกว่าการตอบโต้สงคราม การเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นการสร้างวิสัยทัศน์เชิงบวกสำหรับเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตที่เป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของสิทธิและคุณธรรมส่วนบุคคล ซึ่งหากอียูและสหรัฐฯ ร่วมมือกัน จะสามารถเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจของวันพรุ่งนี้ได้” – นาง Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Europe Fit for the Digital Age และประธานร่วมของ TTC
ความเป็นมา
สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ ได้ประกาศจัดตั้งสภาการค้าและเทคโนโลยีอียู-สหรัฐฯ (EU-US Trade and Technology Council (TTC)) ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอียู-สหรัฐฯ ณ กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากฎหมายสำหรับใช้ควบคุมเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอนาคต และเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายภายใต้หลักค่านิยมประชาธิปไตย ต่อมาภายหลังการประชุม TTC ครั้งที่ 1 เมื่อปลายกันยายน 2564 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 10 กลุ่มย่อย เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ครอบคลุมมิติต่าง ๆ อาทิ มาตรฐานเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ มาตรการควบคุมการส่งออก และความท้าทายอื่น ๆ ของการค้าโลก
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 อียูและสหรัฐฯ ได้ร่วมแถลงเรื่องพัฒนาการของ TTC รวมถึงความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ในช่วงเวลาแห่งความท้าทาย โดย TTC ได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญของความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยช่วยส่งเสริมพลวัตความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน แก้ไขอุปสรรคทางการค้าปัจจุบันและหลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าในอนาคต โดยครอบคลุมการค้าที่ไม่ใช่ตลาด (non-market) และการบิดเบือนการค้า ตลอดจนการพิจารณามาตรการร่วมเพื่อตอบโต้การรุกรานของรัสเซียในยูเครน
สรุปผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุม TTC ครั้งที่ 2 ดังนี้
- การช่วยเหลือยูเครน ทั้งฝ่ายอียูและสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นจะช่วยเหลือยูเครนรับมือกับสถานการณ์การรุกรานทางทหารจากกองทัพรัสเซีย และเห็นชอบมาตรการที่เป็นรูปธรรมภายใต้การดำเนินงานของ TTC เช่น มาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวด รวมถึงสินค้าพลังงาน และมาตรการลงโทษทางการค้า โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกับยูเครนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และให้ความช่วยเหลือด้านการค้าและการลงทุน
- การควบคุมความถูกต้องของข้อมูล (Information Integrity) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการควบคุมความถูกต้องของข้อมูลในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้ โดยเริ่มจากการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านการวิเคราะห์การบิดเบือนข้อมูลและการแทรกแซงของรัสเซีย ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือในการจัดการกับสถานการณ์วิกฤตอื่น ๆ ในอนาคต
- การประชุมด้านการค้าและแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจะจัดการประชุมไตรภาคีในด้านการค้าและแรงงาน เพื่อร่วมส่งเสริมสิทธิแรงงานในเวทีสากล รวมถึงการขจัดปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานเด็ก
- การควบคุมการส่งออก ความร่วมมือภายใต้ TTC เป็นเครื่องมือสำคัญของควบคุมการส่งออกที่รวดเร็วและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีอวกาศและการเฝ้าระวังทางไซเบอร์ เพื่อสกัดกั้นศักยภาพในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ และบั่นทอนขีดความสามารถทางทหารของรัสเซีย โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะรักษาความร่วมมือและยกระดับความสัมพันธ์อันเข้มแข็งนี้ต่อไป
- ความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน สถานการณ์การรุกรานของรัสเซียในยูเครนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นชอบให้มีการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น อาทิ พัฒนากลไกการแจ้งเตือนล่วงหน้าและการติดตามห่วงโซ่คุณค่าของเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับการหยุดชะงักของวัตถุดิบ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านเงินสนับสนุน การจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดหาเงินทุนสาธารณะสำหรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัยและยืดหยุ่นในประเทศที่สาม ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การร่วมลงทุนสาธารณะระหว่างอียูและสหรัฐฯ ในโครงการดิจิทัลในประเทศที่สามภายใต้หลักค่านิยมเดียวกัน
- มาตรฐานด้านเทคโนโลยี ในด้านของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ทั้งอียูและสหรัฐฯ เห็นชอบที่จะจัดตั้งกลไก Strategic Standardisation Information (SSI) เพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในกิจกรรมด้านการกำหนดมาตรฐานระดับสากล โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งผลักดันการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคที่สอดคล้องกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยเฉพาะมาตรฐานในกลุ่มยุทธศาสตร์ร่วม เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing (AM)) หรือการพิมพ์ 3 มิติ เทคโนโลยีการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเทคโนโลยี Internet of Things (IoT)
- ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพิ่มเติมเรื่องการดำเนินการตามหลักการร่วมด้าน AI และเห็นชอบที่จะร่วมกันพัฒนา Roadmap เพื่อกำหนดเครื่องมือสำหรับการประเมินผลและวัดผล สำหรับเทคโนโลยี AI ที่เชื่อถือได้และเพื่อการจัดการความเสี่ยง
- การกำกับดูแลแพลตฟอร์ม อียูและสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้าง เป็นสากล ใช้งานร่วมกันได้ เชื่อถือได้ และปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคต (Declaration for the Future of the Internet) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและหลักการด้านดิจิทัล (Declaration on European digital rights and principles) ของอียู นอกจากนี้ อียูและสหรัฐฯ เห็นชอบที่จะสร้างความร่วมมือในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ของการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเพิ่มเติมอีกด้วย
- การเข้าถึงเทคโนโลยีของ SMEs อียูและสหรัฐฯ ได้เผยแพร่คู่มือแนวทางปฏิบัติอันเป็นเลิศร่วมกัน พร้อมแหล่งข้อมูลแนวทางสำหรับ SMEs ในการปรับเปลี่ยนให้มีความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
- มิติด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศสำหรับการค้าและเทคโนโลยี การส่งเสริมมิติด้านความยั่งยืนเป็นความทะเยอทะยานสำหรับ TTC โดยรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะหารือประเด็นคงค้างเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อม/สภาพภูมิอากาศ รวมถึงการส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทสำคัญของการค้าในการช่วยกระจายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความร่วมมือด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะสีเขียว และการพิจารณาแนวทางร่วมกันในเรื่อง carbon footprint
- อุปสรรคทางการค้า รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะร่วมกันทำงานเพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะและการตรวจสอบและรับรองของภาครัฐ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวโน้มของอุปสรรคทางการค้าใหม่ในระดับทวิภาคีและกับประเทศที่สาม โดยรัฐมนตรีทั้งสองสองฝ่ายเห็นชอบที่จะประสานความร่วมมือในการระบุนโยบายการค้าที่ไม่ใช่ตลาด (non-market) ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะตามมาต่อทั้งสองฝ่าย
การดำเนินงานในลำดับต่อไป
สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพในการประชุม TTC ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2565 นี้ ซึ่งขณะนี้ยังมีอีก 2 ประเด็นที่อียูและสหรัฐฯ กำลังพัฒนาความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) การจัดทำกรอบความตกลงด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic Data Privacy Framework) เนื่องจากอียูประสงค์ให้สหรัฐฯ จำกัดอำนาจของหน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐฯ ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอียู โดยเมื่อเดิอนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในหลักการแล้วภายหลังการเจรจาด้วยความยากลำบากมาหลายปี ซึ่งกรอบความตกลงฯ นี้จะทำให้บริษัทสามารถถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ของลูกจ้างจากยุโรปไปสหรัฐ ได้ง่ายขึ้น และ 2) แนวทางการบังคับใช้กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act (DSA)) และกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act (DMA)) ซึ่งมีเป้าหมายที่การควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ (ส่วนมากเป็นบริษัทของสหรัฐฯ อาทิ บริษัท Google บริษัท Amazon บริษัท Microsoft บริษัท Apple และบริษัท Meta เป็นต้น) จึงต้องติดตามท่าทีของสหรัฐฯ และทิศทางของความสัมพันธ์ด้านการค้าและเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่ายในการประชุมครั้งต่อไปในสิ้นปีนี้
ที่มา:
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_3034
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/STATEMENT_22_3108
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_2087
https://www.politico.eu/article/eu-us-joint-action-russia-trade-technology-council-summit/#
https://www.euronews.com/my-europe/2022/05/16/eu-and-us-agree-to-strengthen-global-supply-chains-amid-war-in-ukraine
https://www.euractiv.com/section/digital/news/russias-war-in-ukraine-dominates-eu-us-trade-and-tech-talks/