EU รายงานความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565

EU รายงานความก้าวหน้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2565

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

| 1,659 view

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานติดตามผลการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศสมาชิกประจำปี 2565 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสํานักงานสถิติยุโรป (Eurostat)

จากการประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของอียูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (โดยใช้ข้อมูลเป้าหมาย ตัวชี้วัดของสหประชาชาติและยุทธศาสตร์มาเป็นตัวประเมิน) พบว่า อียูมีความก้าวหน้าในเกือบทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นจุดเน้น (Priorities) ของอียู เช่น นโยบาย European Green Deal ยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิทางสังคมของอียู

สำหรับเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นมาก (Significant progress) ได้แก่ 1) การขจัดความยากจน (SDG 1) 2) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน (SDG 8) 3) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมนวัตกรรม (SDG 7) 4) การพัฒนาพลังงานสะอาดให้มีราคาถูกลง (SDG 9) และ 5) การส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและระบบการอํานวยความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ (SDG 16)

นอกจากนี้ อียูมีความก้าวหน้าในระดับปานกลาง (Moderate) ในหลายประเด็น ได้แก่ ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ที่ดี (SDG 3) ทรัพยากรทางทะเล (SDG 14) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5) เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12) การศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) และการขจัดความหิวโหย (SDG 2) รวมถึงมีการดำเนินการในระดับคงที่ (Neutral) ในด้านความร่วมมือในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 17) รวมถึงด้านน้ำสะอาดและสุขาภิบาล (SDG 6)

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินพบว่าการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก หรือ Life on land (SDG 15) ยังคงเป็นความท้าทายที่อียูต้องให้ความสำคัญเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งในเรื่องป่าไม้และความหลากหลายของระบบนิเวศ (Ecosystems and Biodiversity)

รายงานฉบับนี้ยังระบุถึงความท้าทายต่าง ๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยย้ำความจำเป็นในการใช้แนวทางสีเขียวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ซึ่งอียูหวังว่าการจัดสรรงบประมาณแก่ประเทศสมาชิกอียูภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ (EU Recovery and Resilience Facility – RRF) จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอียูอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง การพัฒนาอียูในช่วงที่ผ่านมามีการวางแผนและกำหนดนโยบายในระดับต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล โดยมีการจัดทำแผนนโยบาย European Green Deal รวมถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิทางสังคมภายใต้  European Pillar of Social Rights เป็นกรอบหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนั้น เมื่อต้นปี 2565 อียูยังจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ (EU’s 8th Environmental Action Programmes ค.ศ. 2021-2030) ซึ่งเป็นเป็นแผนแม่บทระยะยาว 10 ปี ในการจัดการสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยมุ่งเน้นตัวชี้วัดการพัฒนาที่ควรไปไกลกว่าจีดีพี

ที่มา: https://ec.europa.eu/eurostat/documents/3217494/14665254/KS-09-22-019-EN-N.pdf/2edccd6a-c90d-e2ed-ccda-7e3419c7c271?t=1654253664613

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/IP_22_3212