วันที่นำเข้าข้อมูล 14 มี.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
“มาตรฐานทางเทคโนโลยีมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์” ทั้งสำหรับตลาดภายในของสหภาพยุโรป และขีดความสามารถในการแข่งขันของยุโรปในตลาดโลก โดยมีนัยสำคัญสําหรับการใช้งานร่วมกันของผลิตภัณฑ์และบริการ (interoperability) การลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความมั่นคง และการส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อสหภาพยุโรปจะได้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลและสีเขียว
ในอดีตสหภาพยุโรป (อียู) เคยเป็นผู้เล่นสำคัญด้านการกำหนดมาตรฐานสากลสำหรับอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารเคลื่อนที่ในภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯ ต่อด้วยจีนได้กลายเป็นผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานสากลด้านเทคโนโลยีมากขึ้นส่งผลให้อียูเร่งปรับปรุงกลยุทธ์ให้ทันคู่แข่ง และมุ่งเป็นผู้นําในการกำหนดมาตรฐานสากล (global standard-setter) ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาทิ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยี 5G แบตเตอรี่ และอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยุโรป และแข่งขันกับทั้งสหรัฐฯ และจีน
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ด้านการกำหนดมาตรฐาน (Standardisation Strategy) ทางเทคโนโลยี เพื่อบริหารจดการเทคโนโลยีใหม่ รักษาผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก บริษัท SME และผู้บริโภคชาวอียู ตลอดจนส่งเสริมค่านิยมของอียูให้เป็นพื้นฐานของมาตรฐานสากลต่าง ๆ รวมถึงมาตรฐานรับรองไมโครชิป (chip certification) และการป้องกันข้อมูล โดยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอ 1) ร่างปรับปรุงกฎหมาย Regulation (EU) No. 1025/2012 on standardisation 2) รายงานการบังคับใช้กฎหมายกำหนดมาตรฐานสากลของอียูระหว่างปี ค.ศ. 2015-2020 และ 3) แผนการดำเนินงานในการกำหนดมาตรฐานของอียูประจำปี ค.ศ. 2022 ตามแนวทาง 5 ข้อ ดังนี้
1) วิเคราะห์สถานการณ์ จัดลำดับความสําคัญ และกำหนดมาตรฐานตามสาขายุทธศาสตร์ เพื่อให้สามารถออกมาตรฐานสินค้าที่จำเป็นได้รวดเร็วขึ้น ได้แก่ วัคซีนและการผลิตยาป้องกันโควิด-19 การรีไซเคิลแร่ธาตุหายาก ห่วงโซ่คุณค่าของไฮโดรเจนสะอาด ซีเมนต์คาร์บอนต่ำ การรับรองไมโครชิป และพัฒนามาตรฐานข้อมูล ตามที่ได้ระบุในแผนการดำเนินงานในการกำหนดมาตรฐานของอียูประจำปี ค.ศ. 2022 พร้อมแต่งตั้ง Chief Standard Officer เป็นผู้ประสานและให้แนวทางเกี่ยวกับการกําหนดมาตรฐานกับคณะกรรมาธิการยุโรป โดยมีศูนย์ที่เป็นเลิศด้านมาตรฐานของอียูให้การสนับสนุน
2) ปรับปรุงการกำกับดูแลและปกป้องความมั่นคงของระบบมาตรฐานของยุโรป โดยแก้ไขกฎหมายฉบับปัจจุบันเพื่อรักษาอำนาจในการกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้ผู้แทนและหน่วยงานจากประเทศสมาชิกอียูและประเทศในเขตเศรษฐกิจยุโรปเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลจากประเทศที่สามในขั้นตอนกระบวนการกำหนดมาตรฐานของยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะให้บริษัท SME และภาคประชาสังคมยุโรปมีบทบาทในขั้นตอนการตัดสินใจมากขึ้น
3) เพิ่มบทบาทของยุโรปในการเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสากล คณะกรรมาธิการยุโรปจะใช้เวทีระดับสูงจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อแบ่งปันข้อมูล ประสานงาน และเสริมสร้างแนวทางกำหนดมาตรฐานของยุโรปสู่มาตรฐานสากลร่วมกับประเทศสมาชิกและหน่วยงานด้านมาตรฐานของแต่ละประเทศ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านมาตรฐานกับประเทศพันธมิตรที่มีความเห็นคล้ายกัน (like-minded partners) โดยอียูจะสนับสนุนเงินสำหรับโครงการด้านมาตรฐานในประเทศแถบแอฟริกาและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของอียู
4) ส่งเสริมนวัตกรรม คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนจากอียูให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนโครงการนวัตกรรมผ่านกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดทํามาตรฐาน และพัฒนามาตรฐานตั้งแต่ช่วงต้นของการทำวิจัย นอกจากนี้ จะเปิดตัว “standardisation booster” เพื่อสนับสนุนนักวิจัยภายใต้โครงการ Horizon 2020 และ Horizon Europe ในการเร่งพัฒนามาตรฐานที่จำเป็น และเสนอให้มีการกำหนดประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) สำหรับนักวิจัย เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการกำหนดมาตรฐานและงานวิจัยและนวัตกรรม ผ่านโครงการ European Research Area (ERA) ภายในกลางปี 2565
5) เสริมสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดมาตรฐานรุ่นต่อไป เนื่องจากการกำหนดมาตรฐานจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้เฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงเสนอแผนที่จะส่งเสริมองค์ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนามาตรฐาน อาทิ ผ่านการจัดงาน EU University Days และโครงการฝึกอบรมนักวิจัย
ผู้บริหารอียูเห็นว่า แผนยุทธศาสตร์ด้านการกำหนดมาตรฐานของอียูเป็นการส่งเสริมบทบาทของอียูในการเป็นผู้นำในการกำหนดแนวทางมาตรฐานสากล โดยควรเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดแทนที่จะกีดกันการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และต้องปกป้องค่านิยมของยุโรปด้วย
ในมิติมาตรฐานสากลในเวทีโลก อียูได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ จัดตั้งสภาการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอียูและสหรัฐฯ (EU-US Trade and Technology Council (TTC)) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงเร่งพัฒนากฎหมายสำหรับการควบคุมเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต ซึ่งการกำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีเป็น 1 ใน 10 ประเด็นที่คณะทำงานกลุ่มย่อยของ TTC ให้ความสําคัญ นอกเหนือจากสาขาอื่น ๆ เช่น ไมโครชิป หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยจะมีการประชุมหารือครั้งที่ 2 ในช่วงระหว่างวันที่ 15-16 พ.ค. 65 นี้
ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้า/บริการมายังตลาดอียูควรติดตามแผนการปรับปรุงมาตรฐานของอียูอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจได้ทันท่วงที อีกทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรมสากลจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจในตลาดโลก ซึ่งสังเกตได้ว่าอียูเน้นย้ำประเด็นเรื่องความสามารถในการใช้งานร่วมกันของผลิตภัณฑ์ในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลต่าง ๆ และอยู่ระหว่างการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับอุปกรณ์วิทยุ (Radio Equipment Directive) เพื่อกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนมาใช้หัวชาร์จไฟชนิด USB-C เป็นมาตรฐานกลางของยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ได้แก่ แท็บเล็ต หูฟัง กล้องดิจิทัล ลำโพงพกพา เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องควรศึกษาร่างกฎหมายและเตรียมปรับตัวตามมาตรฐานใหม่นี้ในลำดับต่อไป
ที่มา:
https://thaieurope.net/2022/03/10/eu-global-standard-setter/
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)