อียูเสนอร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันให้ทั่วโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

อียูเสนอร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันให้ทั่วโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ค. 2565

| 3,643 view

อียูเสนอร่างกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน ผลักดันให้ทั่วโลกทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

ผลกระทบจาก COVID-19 ที่ทำให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องหันมาทบทวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้มีความแข็งแกร่งขึ้นและสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านการผลิตได้ดีขึ้น แต่ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอื่นๆ ในระบบห่วงโซ่การผลิตโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ การทำลายสิ่งแวดล้อมจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกำลังการผลิตเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือภาวะโลกร้อน จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศสมาชิก ให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยไม่ปล่อยให้ผลกำไรหรือขาดทุนเป็นตัวกำหนดทิศทางของการดำเนินธุรกิจอย่างที่เคยเป็น เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย “EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence” ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ภาคเอกชนอียูต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของตนเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ร่างกฎหมายอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติของอียู และคาดว่าภายในปี 2566 จะมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านประมาณ 3-5 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่วงเวลาในการเตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ โดยหลังจากนี้ คาดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะออกแนวปฏิบัติในการปฏิบัติตามกฎหมาย (Guidelines) ซึ่งจะรวมถึงการกำหนดรายละเอียดสัญญามาตรฐานระหว่างบริษัทและผู้จัดหาสินค้า (suppliers) ตลอดจนแนวทางการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่

หลักการของร่างกฎหมาย

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การกำกับดูแลให้ภาคเอกชนอียู รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับบริษัทในอียู ดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยวางกฎเกณฑ์ให้มีการตรวจสอบ (Due Diligence) ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงการจัดทำนโยบาย Due Diligence Policy และจรรยาบรรณธุรกิจ (Code of Conduct) สำหรับพนักงาน บริษัทสาขา และ suppliers เพื่อป้องกันการละเมิด               สิทธิมนุษยชน (เช่น สิทธิแรงงาน) และผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การสร้างมลพิษ) ตามมาตรฐานสากล อาทิ UN และ OECD และทำการรายงานผล ควบคู่ไปกับการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทขนาดใหญ่ มีหน้าเพิ่มขึ้นที่ต้องตรวจสอบในด้านสภาพอากาศ (Climate Due Diligence) ซึ่งมุ่งจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทั้งนี้ ภาคเอกชนในอียูอาจได้รับโทษปรับและความรับผิดทางแพ่งหากไม่ทำ Due Diligence ตามข้อกำหนด

ใครต้องทำ Due Diligence บ้าง?

ร่างกฎหมายไม่เพียงแต่บังคับใช้กับบริษัทสัญชาติอียูเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริษัทต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในเขตอียู  ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้า (ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต แปรรูป) ในประเทศที่สาม ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่เข้าข่าย ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้

(1)  บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในอียู (มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในอียูรวม 150 ล้านยูโรขึ้นไป)  

(2)  บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในอียู ซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 250-500 คน โดยมีรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นในอียู รวม 40 ล้านยูโรขึ้นไป และมีรายได้หลักจากทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 มาจากธุรกิจที่มีผลกระทบสูง (high impact sectors) เช่น สิ่งทอ รองเท้า เกษตร ป่าไม้ ประมง อาหาร การทำเหมืองแร่ (รวมถึงปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โลหะ และแร่ธาตุอื่นๆที่ไม่ใช่โลหะ) เป็นต้น โดยบริษัทในข้อ (2) จะต้องเริ่มทำ due diligence 2 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับกับบริษัทในข้อ (1)

แม้ว่าร่างกฎหมายไม่มีผลใช้บังคับกับผู้ประกอบการ SMEs แต่เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมหากเป็น suppliers ให้กับบริษัทที่อยู่ภายใต้กรอบบังคับของร่างกฎหมายฯ โดยมีขั้นตอนทางธุรกิจเพิ่มเติม เช่น การปฏิบัติตาม Code of Conduct ของบริษัทแม่ (ในกรณีเป็นคู่ค้าหลักที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทแม่/บริษัทสาขา หรือ “Critical Tier 1 Supplier”) หรือการเพิ่มข้อบทในสัญญา (Contractual assurance) ที่บังคับให้ suppliers ในลำดับถัดไปต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของคู่ค้าต่อกันเป็นทอด ๆ (Cascading clauses)

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนี้ คือ บริษัทที่เข้าไปลงทุนในอียูเอง และมีคุณสมบัติเข้าข่าย ตลอดจนบริษัทในไทยที่เป็น suppliers ส่งออกสินค้าให้กับบริษัทที่เข้าข่าย/ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเตรียมการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ

ปัจจุบัน อียูเป็นตลาดสำคัญของสินค้าส่งออกจากไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าประเภทเกษตรและอาหาร เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รองเท้า ตลอดจนอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนั้น การปรับตัวเพื่อดำเนินการตามมาตรฐานใหม่ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการเจาะตลาดการค้าและการลงทุนของสินค้าและบริการไทยในตลาดยุโรป และช่วยลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในการสร้างความตระหนักรู้และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีระดับสากล เพื่อเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวให้เท่าทันกระแสการค้ายุคใหม่และเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

 

                ****************************