ยุโรปกับการใช้เงินยูโร ครบ 20 ปี

ยุโรปกับการใช้เงินยูโร ครบ 20 ปี

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,169 view

ยุโรปกับการใช้เงินยูโร ครบ 20 ปี

              นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัย Sant’  Anna เมืองปีซ่า (Pisa) อิตาลี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 61 สรุปสาระสําคัญได้ดังนี้

 

 

              ยุโรปประกาศใช้ สกุลเงินยูโร เมื่อวันที่ ม.ค. ค.ศ. 1999 เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพในอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้การรวมตัวเป็นตลาดเดียว โดยเริ่มใช้ในหมู่ประเทศสมาชิก EU จํานวน 11 ประเทศ ต่อมาได้ขยายเป็น19 ประเทศ จาก 28 ประเทศ ครอบคลุมประชากรจํานวนประมาณ 340 ล้านคน และเป็นสกุลเงินหลักอันดับ 2 ของโลกรองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

 

              การเกิดขึ้นของเงินยูโรส่งผลให้การส่งออกภายใน EU ขยายตัวขึ้นมากจากร้อยละ 13 ของ GDP ในปี ค.ศ. 1992 เป็นร้อยละ 20 ในปัจจุบัน เนื่องจากการเป็นตลาดเดียวสามารถขจัดอุปสรรคทางศุลกากรและช่วยอํานวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก EU และการใช้สกุลเงินเดียวร่วมกันสามารถลดต้นทุนการชําระเงินระหว่างประเทศ และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ใน EU เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความมีเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU ขยายตัวเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังทําให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ มีอิสระในการดําเนินนโยบายการเงินมากกว่าการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในอดีต และตลาดของผู้ใช้เงินยูโรมีขนาดใหญ่พอที่จะทําให้ euro zone สามารถลดผลกระทบที่เกิดจากการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจ โลกได้

 

 

              ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิกฤติการเงินโลกได้ท้าทาย EU ส่งผลให้ประเทศสมาชิกต้องปรับตัวทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินครั้งสําคัญ โดยวิกฤติหนี้สาธารณะใน euro zone ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของสถาบันการเงินใน EU จึงจําเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูป euro zone โดยเฉพาะการจัดตั้งสหภาพการธนาคาร (Banking Union – BU) การจัดตั้งสหภาพตลาดทุน (Capital Markets Union) และการสร้างกลไกเสถียรภาพของยุโรป (European Stability Mechanism – ESM)

 

 

              การจัดตั้ง BU มีความจําเป็นอย่างมากต่อประเทศสมาชิกที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เพื่อให้สามารถกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ และ ECB ยังคงเน้นย้ำให้ ประเทศสมาชิกปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (fundamental structural reform) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในด้านการจ้างงานการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อัตราค่าจ้างแรงงาน และการเติบโตทาง เศรษฐกิจในระยะยาว

 

 

              นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีความจําเป็นต้องดําเนินนโยบายการคลังควบคู่ไปกับนโยบายการเงิน เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น การบริหารการใช้งบประมาณของประเทศสมาชิก รวมไปถึงงบประมาณของ EU อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความสําคัญอย่างมากต่อการบริหารจัดการกับความเสี่ยงยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ