เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา พบหารือกับผู้บริหารท่าอากาศยานใหม่ นครอิสตันบูล

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา พบหารือกับผู้บริหารท่าอากาศยานใหม่ นครอิสตันบูล

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,141 view

          เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 นางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เดินทางไปเยี่ยมคมท่าอากาศยานใหม่อิสตันบูล (Istanbul New Airport) ซึ่งจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2561  โดยปัจจุบันได้เปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 1 (Terminal 1) แล้ว สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ 3 เส้นทาง ไปกรุงอังการา จ.อันทาเลีย และ จ.อิซเมียร์ และเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 2 เส้น ไปกรุงบากู (อาเซอร์ไบจาน) และไซปรัสเหนือ

          ในการนี้ เอกอัครราชทูตฯ และคณะ ยังได้พบหารือกับนาย Kadri Samsunlu ตำแหน่ง CEO บริษัท IGA Airport Operation INC. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารงานท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล โดยนาย Samsunlu ได้บรรยายสรุปถึงความเป็นมาของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล ว่า เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อต้นปี 2556 โดยสาเหตุที่รัฐบาลตุรกีตัดสินใจสร้างท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล เนื่องจากท่าอากาศยานอตาเติร์กซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของนครอิสตันบูลมีความแออัดและไม่สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่มีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปีได้อีกต่อไป โดยปัจจุบันท่าอากาศ          ยานอตาเติร์ก ต้องรองรับผู้โดยสารถึงประมาณ 70 ล้านคนต่อปี จากศักยภาพจริงที่รองรับได้เพียง 38 ล้านคนต่อปี

          สำหรับอาคารผู้โดยสารที่ 1 ของท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล มีขนาดพื้นที่ 1.44 ล้านตารางเมตรสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี ถือว่าเป็น world largest single terminal และจะเปิดบริการเต็มรูปแบบสำหรับ Phrase 1 ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งเมื่อมีผู้โดยสารใช้บริการถึง 90 ล้านคน ก็จะทำการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 2 ต่อไป  นอกจากนี้ บริษัท  IGA Airport Operation INC. มีแผนที่จะก่อสร้าง Runway ทั้งหมด 6 แห่ง หอคอยบังคับการบิน 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 3,500 เที่ยวต่อวัน และนอกจาก Runway กับอาคารผู้โดยสารแล้ว ยังมีแผนก่อสร้างโรงแรม โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก สถาบันการบิน อาคารสำนักงาน อพาร์ทเม้นท์ ศูนย์วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ศุนย์จัดแสดงสินค้าและจัดประชุมในพื้นที่รอบอากาศยานด้วย โดยเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์จะสร้างรายได้กับเศรษฐกิจของตุรกีประมาณ 40 พันล้านยูโร หรือ 5% ของ GDP ประเทศและก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 225,000 ตำแหน่ง

          ทั้งนี้ เมื่อท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูลเปิดเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2561 ท่าอากาศยาน อตาเติร์กก็จะถูกปิดลง และจะทำให้นครอิสตันบูลจะมีท่าอากาศยานหลักเหลือเพียง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล และท่าอากาศยาน Sabiha Gocen เท่านั้น  ปัจจุบัน ท่าอากาศยานที่อิสตันบูลมี สายการบิน Turkish Airline เป็นลูกค้ารายใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งบริษัท IGA Airport Operation INC. หวังว่า จะดึงสายการบินต่างประเทศอื่นๆ มาให้บริการเพิ่มอีกในอนาคต

          ภายในท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูล มี Zone Duty Free ที่มีขนาดพื้นที่ 55,000 ตารางเมตร  และมีผู้เช่าแล้วกว่าร้อยละ 90   Zone Food Court ขนาด 32,000 ตารางเมตร ซึ่งมีผู้เช่าแล้วร้อยละ 75 และโรงแรมแบ่งเป็นส่วน Land Side (ก่อนผ่านตม.) เน้นให้บริการผู้โดยสารและบุคคลทั่วไปและ Air Side (หลังผ่านตม.) เน้นให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องเวลา 0-3 ชั่วโมง ที่จอดรถ 18,000 คัน การเดินทางสู่สนามบิน ภายในปี 2556 ผู้โดยสารจะสามารถเดินทางจากใจกลางนครอิสตันบูลสู่ท่าอากาศยานได้โดยรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมีสถานีจอดรับผู้โดยสาร 6 สถานี และยังมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานใหม่นครอิสตันบูลกับท่าอากาศยานนานาชาติ Sabiha Gokcen ด้วย

          เนื่องจากท่าอากาศยาน Istanbul New Airport เป็นโครงการที่ใหญ่มากและสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงเห็นว่า อาจเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในโครงการดังกล่าวได้ อาทิเช่น 1) การเปิดเส้นทางบินกรุงเทพ – อิสตันบูล 2) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานไทยกับท่าอากาศยานตุรกี 3) การเช่าพื้นที่ใน Duty Free Zone 4) การลงทุนในธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ภายในพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นต้น

          ทั้งนี้ สามารถขอรับข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่นาย Ayhan Okmen ตำแหน่ง Airport City Manager อีเมล์ [email protected]