บทวิเคราะห์ “วิกฤตค่าเงินลีราของตุรกี”

บทวิเคราะห์ “วิกฤตค่าเงินลีราของตุรกี”

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,872 view

          ตามที่เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ค่าเงินลีรา (Lira) ของสาธารณรัฐตุรกีได้อ่อนค่าลงกว่า ร้อยละ ๔๐ นับตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๑ ภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอะลูมิเนียมและเหล็กกล้าจากตุรกี เป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 50 ตามลำดับ (เพิ่มขึ้น 2 เท่า) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตค่าเงินลีราและท่าทีของรัฐบาล สาธารณรัฐตุรกี ตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา และการประมวลจากแหล่งข่าวต่างๆ ดังนี้             

  1. การอ่อนค่าขอค่าเงินลีราในครั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญจากปัญหาเศรษฐกิจภายในของสาธารณรัฐตุรกีเอง อาทิ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การขาดดุลงบประมาณ อัตราเงินเฟ้อสูง หนี้ภาครัฐ/ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับที่สูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น กอปรกับ นโยบายคงอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นโครงการก่อสร้างของภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐตุรกีที่ต้องการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีปัจจัยซ้ำเติม ได้แก่ ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐตุรกีกับสหรัฐอเมริกา จากกรณีที่ทางการตุรกีควบคุมตัวนายแอนดรูว์ แบรนซัน บาทหลวงชาวอเมริกัน (ซึ่งฝ่ายตุรกีเชื่อว่าให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเหตุการณ์ก่อกบฎ เมื่อปี ๒๕๕๙) จนนำไปสู่การที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมและเหล็กกล้าจากสาธารณรัฐตุรกี จนส่งผลให้ค่าเงินตุรกีอ่อนลงเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว
  2. จนถึงปัจจุบันรัฐบาลสาธารณรัฐตุรกีได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อาทิ (๑) ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใบยาสูบ เครื่องสำอาง ข้าว และถ่านหิน พร้อมกับเรียกร้องให้ชาวตุรกีคว่ำบาตรการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ และนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาแลกเป็นเงินลีรา (๒) อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและออกมาตรการควบคุมปริมาณการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และ (๓) ประกาศมาตรการปกป้องภาคธุรกิจ ตลาดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เช่น การผ่อนปรนด้านสินเชื่อและการยืดหยุ่นด้านกฎระเบียบ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐตุรกียังใช้มาตรการทางการทูตเชิงรุกเพื่อแสวงหาพันธมิตรร่วมกดดันสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรปที่เป็นคู่ค้าและเจ้าหนี้รายใหญ่ รวมถึงประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่มีความใกล้ชิดกับสาธารณรัฐตุรกี อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย อิหร่าน จีน และกาตาร์  ซึ่งผู้นำ/บุคคลในรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนตุรกีและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของสหรัฐฯ นอกจากนี้  รัฐบาลกาตาร์ยังประกาศเพิ่มการลงทุนในสาธารณรัฐตุรกีเป็นมูลค่า ๑๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของการสนับสนุนตุรกีอีกด้วย
  3. วิกฤตค่าเงินของสาธารณรัฐตุรกีน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยในวงจำกัดและในระยะสั้น ๆ เนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินระหว่างสองประเทศยังมีไม่สูงมาก อีกทั้ง ไม่มีสถาบันทางการเงินใดของไทยที่ปล่อยกู้แก่ธุรกิจของสาธารณรัฐตุรกี 

          อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่คาดว่าจะมีต่อไทยอาจ ได้แก่ ด้านการค้า  สาธารณรัฐตุรกีอาจนำเข้าสินค้าไทยบางรายการลดลงและสินค้าไทยอาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากฝ่ายตุรกีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การอ่อนตัวของเงินลีราจะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจที่นำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐตุรกี เนื่องจากจะสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ด้านการลงทุน บริษัทไทยที่ลงทุนในตุรกี อาจจะได้รับผลกระทบจากมูลค่าสินทรัพย์ที่มูลค่าลดลงมากและราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัท ด้านการท่องเที่ยว ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากตุรกีที่เดินทางไปไทยอาจลดลง ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยจะได้ประโยชน์จากการเดินทางไปเที่ยวตุรกีในช่วงนี้