การประชุม The Fifth Caspian Summit

การประชุม The Fifth Caspian Summit

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,949 view
            เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 คาซัคสถานได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Caspian Summit ครั้งที่ 5 โดยมีผู้นำของ 5 ประเทศแถบทะเลแคสเปียน ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน อาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน และคาซัคสถาน เข้าร่วมประชุม สรุปผลการประชุมที่สำคัญดังนี้ (1) ผู้นำทั้ง 5ประเทศได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ การค้าขาย เศรษฐกิจ การคมนาคม การป้องกันเหตุฉุกเฉินในทะเลแคสเบียน การต่อต้านการก่อการร้าย/อาชญากรรมข้ามชาติ การข้ามแดนและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น
(2) ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การลงนามอนุสัญญา Convention on the Legal Status of the Caspian Sea ซึ่งเป็นการตกลงในหลักการของการแบ่งเขตทางทะเลแคสเปียน โดยการให้สิทธิ์ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศสามารถควบคุมพื้นที่ 15 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของประเทศตนเพื่อการสำรวจแร่ และต่อไปอีก 10 ไมล์ทะเลสำหรับการประมง โดยพื้นที่ทะเลส่วนที่เหลือจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ดี ในประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตแดนทางท้องทะเล (Seabed) ซึ่งมีทรัพยากรจำนวนมาก ที่ประชุมเห็นควรให้มีการเจรจาต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำทั้ง 5 ประเทศยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือในระดับ รมช. กต.เพื่อให้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว โดยจะมีการประชุมครั้งแรกภายใน 6 เดือนหลังการลงนามอนุสัญญา รวมถึงยังได้เห็นพ้องที่จะห้ามไม่ให้ประเทศอื่นนอกเหนือจาก 5 ประเทศภาคีอนุสัญญามีการดำเนินกิจกรรมทางทหารในทะเลแคสเปียน (ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศรัสเซียมีความได้เปรียบเนื่องจากมีอิทธิผลทางทหารในทะเลมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ) นอกจากนั้น อนุสัญญาดังกล่าวได้ระบุให้ประเทศภาคีทั้ง 5 สามารถวางท่อส่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติบนท้องทะเลแคสเบียนได้ โดยต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่ท่อจะผ่านซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของเติร์กเมนิสถานที่มีโครงการจะสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Trans-Caspian Pipeline (TCP) ผ่านทะเลแคสเบียนไปยังอาเซอร์ไบจาน เพื่อส่งผ่านเข้าไปตลาดยุโรป แต่ที่ผ่านมา รัสเซีย และอิหร่านได้คัดค้านการสร้าง TCP ดังกล่าว โดยอ้างถึงความกังวลต่อสภาพแวดล้อมในทะเลแคสเบียน (และไม่ประสงค์ให้มีคู่แข่งในการส่งออกพลังงานไปยังตลาดยุโรป)
            อนึ่ง การปักปันเขตแดนทางทะเลแคสเบียนถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทะเลแคสเบียนเป็นพื้นที่ที่มีน้ำมันสำรองประมาณ 5 หมื่นล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติเกือบ 9 ล้านล้านคิวบิกเมตร ซึ่งนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับคำนิยามของทะเลแคสเบียนว่าเป็นทะเล หรือทะเลสาบ โดยหากนิยามว่าเป็นทะเลจะทำให้การแบ่งเขตทางทะเลจะต้องเป็นไปตามหลักกฏหมายทะเลของสหประชาชาติ(แต่ละประเทศสามารถปักปันเขตแดนในทะเลโดยลากเส้นแบ่งเขตตามแนวความยาวชายฝั่งของตนไปบรรจบกับเส้นปักปันเขตแดนในทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน) แต่หากนิยามว่าเป็นทะเลสาบ แต่ละประเทศจะต้องแบ่งทรัพยากรในทะเลอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ การนิยามทะเลแคสเบียนว่าเป็นทะเลจะทำให้คาซัคสถานได้ประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นเพราะมีแนวชายฝั่งที่ยาวกว่าทำให้ได้ทรัพยากรในทะเลมากกว่า ขณะที่อิหร่านจะเสียประโยชน์มากที่สุดเพราะมีความยาวชายฝั่งทะเลเพียงร้อยละ 13 ของทะเลแคสเบียน
            อย่างไรก็ดี การประชุมในครั้งนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแบ่งขอบเขตทางทะเลระหว่างอาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน และอิหร่านได้ (ในขณะที่ รัสเซีย อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถานสามารถตกลงกันได้ก่อนหน้านี้แล้ว) ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการจัด Caspian Summit ครั้งที่ 6 ที่ เติร์กเมนิสถานในปี 2562
 
                                                                                         *******************************************