วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Sufficiency Economy and Agenda 2030 : Showing the way forward for sustainable development?” ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Sufficiency Economy and Agenda 2030 : Showing the way forward for sustainable development?” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหารือภายในกลุ่ม Friends of Europe โดยมีผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป NGOs นักวิชาการ ผู้แทนคณะทูตในกรุงบรัสเซลส์ และผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การตื่นจากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization Disillusionment)
กระแสการตื่นจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลกมีแก่นสำคัญมาจากการกระจายผลประโยชน์ของกระแสโลกภิวัตน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังที่ อดีตเลขาธิการสหปะชาชาติ นายโคฟี อันนัน เคยกล่าวไว้ว่า “กระแสโลกาภิวัตน์คือการที่เรือยอชต์พุ่งสูงขึ้น แต่เรือลำอื่น ๆ กลับจมน้ำ หาใช่เรือทุกลำพุ่งสูงขึ้นด้วยกระแสน้ำเดียวกัน” หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2008 สหประชาชาติได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความจำเป็นในการปฏิรูปการบริหารจัดการเศรษฐกิจของโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาล และธนาคารกลางต่าง ๆ กลับเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) สร้างสภาพคล่องในเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มชนชั้นสูงได้รับรายได้โดยตรงจากตลาดการเงินและตลาดหุ้น โดยไม่มีหน่วยงานอื่นได้รับผลประโยชน์นอกจากกลุ่มเจ้าของกิจการเอง ซึ่งทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และความกังวลของกลุ่มคนด้านล่างของปิรามิดทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโต
นาย Larry Summers นักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวในบทความหนึ่ง โดยชี้ให้เห็นถึงการก่อตัวของกระแสชาตินิยมและการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (the renaissance of nationalism and resistance to globalization)ที่เริ่มกลายเป็นแนวคิดสากล กระแสโลกาภิวัตน์จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางหลักจากผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นสูงออกไปสู่ผลประโยชน์ของมวลชนมากยิ่งขึ้น แนวคิดทุนนิยมตลาดเสรีนั้น เหมือนกับหลักการประชาธิปไตย คือเป็นระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลลบน้อยที่สุด ดังนั้นเราจึงไม่สามารถละทิ้งได้ แต่ควรที่จะพัฒนาแนวคิดให้ครอบคลุมมิติทางจริยธรรม ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า โลกต้องการ “เข็มทิศทางจริยธรรมใหม่” (a new moral compass) เพื่อนำพาโลกออกจากสภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง
2. ความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Agenda 2030)
วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Agenda 2030) ได้รับ การรับรองโดยสหประชาติเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความพยายามที่จะสร้าง “เข็มทิศทางจริยธรรมใหม่” ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของมิติด้านสังคมและมนุษย์ สำหรับ UNCTAD นั้น ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาต่าง ๆ ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้จากการพัฒนาภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ความพยายามที่จะล้มเลิกการปลูกฝิ่นของประชาชนชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยทรงดำริแนวทางใน การดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ รวมถึงการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ตลาดให้แก่ประชาชนเหล่านั้น จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ โครงการในพระราชดำริได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง โดยสร้างหลักแนวคิดที่เน้นย้ำถึงความอุตสาหะ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือจากภาคประชาชน หรือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) ซึ่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชเกี่ยวการพัฒนาจากภายในนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับหลักการพัฒนาของสหประชาชาติอย่างชัดเจนแล้ว ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดเริ่มต้นทางเศรษฐศาสตร์ของนาย Adam Smith จากหนังสือ “The Theory of Moral Sentiments” ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันในชุมชน ที่ซึ่งผู้คนควรมีความเข้าใจอันดี ความจริงใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความตระหนักถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชนอีกด้วย
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้มนุษย์ดำเนินกิจการทุกอย่างด้วยความรู้ (wisdom) คุณธรรม (value) และความตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ (feelings for fellow human beings) โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้สามารถปรับใช้ในบริบทในปัจจุบันได้ ดังต่อไปนี้
1. ความมีสติ/ตระหนักรู้ต่อสิ่งที่ทำ (To be mindful/conscious of what we are doing) คือการรับรู้ถึงผลของการกระทำต่าง ๆ เช่น การลงทุนมีความเสี่ยง
2. ความอุตสาหะและความจริงใจ (To persevere and be honest) คือ หลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส
3. การหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุดโต่ง (To avoid extreme actions) คือ การมุ่งเน้นความสุขและความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากกว่าการเจริญเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
4. การมีความรู้แจ้งหรือการนำความรู้ไปปรับใช้ในทุกสิ่งที่ทำ (To be insightful or to apply wisdom in everything we do) คือ การวิเคราะห์ และค้นคว้าหาข้อมูลให้รู้แจ้งก่อนเริ่มลงมือทำกิจการใด ๆ และไม่หลงเชื่อตามที่คนอื่นกล่าวอ้าง นอกเสียจากจะลงมือทำและค้นพบด้วยตนเอง
การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตนั้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงการเตรียมพร้อมเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแนวคิดรูปแบบใหม่ หรือ นโยบาย ที่ซึ่งมนุษย์ต้องมองสถานการณ์อย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบในเชิงบวกและลบ และเตรียมพร้อมรับมือกับผลทุกรูปแบบ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นแนวทางในการนำโลกให้พ้นจากสภาวะที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ผ่านหลักปรัชญารูปแบบใหม่ในกรอบของหลักการทุนนิยมตลาดเสรี
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)