การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีและผลต่อการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและยูโรโซน

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีและผลต่อการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและยูโรโซน

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,751 view

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีและผลต่อการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและยูโรโซน

เรียบเรียงโดยนายวัชระ งามศิริอุดม

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

 

ความเสี่ยงของการที่อิตาลีจะแยกตัวออกมาจากสหภาพยุโรป (European Union – EU) หรือ
ที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อ Italexit หรือ Quitaly เกิดขึ้นหลังจากที่พรรค Five Star Movement (M5S) ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของประเทศอิตาลีในวันที่ 4 มีนาคม 2561 โดยได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 32) ขณะที่พรรค Democratic Party (PD) ของนายมัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ผู้มีแนวคิดสนับสนุนสหภาพยุโรปได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 (ร้อยละ19)  โดยปัจจัยหลักที่ทำให้พรรค M5S ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนั้นมาจากการที่พรรค M5S ได้ยกเรื่องของ Italexit มาเป็นหัวข้อหลักในการหาเสียง  อย่างไรก็ตาม อิตาลีก็ประสบปัญหาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรค M5S ชนะการเลือกตั้งโดยได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ก็ยังมีความขัดแย้งระหว่างพรรค M5S และพรรค PD ในการเสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรี

ล่าสุดในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 สองพรรคการเมืองใหญ่ของอิตาลีสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ หลังจากยอมเสนอชื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีแนวคิดสนับสนุนให้อิตาลีเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป รายชื่อว่า
ที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ใช้ระยะเวลานานกว่า 2 เดือนนับจากวันที่ผลเลือกตั้งประกาศจึงได้รับการประกาศ
อย่างเป็นทางการ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายคือ การที่พรรค M5S ยอมประนีประนอมที่จะแต่งตั้งนายจิโอวานี่ เทรีย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวความคิดสนับสนุนให้อิตาลียังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และนายเปาโล ซาโวนา นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการยุโรปแทน การที่นายจิโอวานี่ เทรียได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและอิตาลีสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จทำให้ปัญหาเรื่อง Italexit ได้รับการคลี่คลายจนเบาบางลงไปในที่สุด

กระแส Italexit ในช่วงที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้ประชาชนอิตาลีประสงค์จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปและยูโรโซนนั้นสืบเนื่องจากปัญหาในภาคธนาคารที่มีระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมสูงถึงร้อยละ 16 ตั้งแต่ปี 2559 โดยกฏเกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าของของธนาคารที่ประสบปัญหาต้องรับภาระหนี้เสียก่อนที่ภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือก่อนอย่างน้อยร้อยละ 8 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งอาจจะต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก     ทำให้ประชาชนส่วนดังกล่าวแสดงความไม่พอใจต่อกฏเกณฑ์ของสหภาพยุโรป แต่ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงหลังจากที่รัฐบาลอิตาลีหาช่องทางช่วยเหลือธนาคารเหล่านั้นได้ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ การที่อิตาลีใช้เงินสกุล ยูโรเหมือนกับหลายประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า เช่น เยอรมนี ทั้งที่สภาพเศรษฐกิจของอิตาลีประสบปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ทำให้สภาพเศรษฐกิจของอิตาลีฟื้นตัวได้ช้ากว่าปกติ เพราะต้องดำเนินตามกฏเกณฑ์ของยูโรโซนในการใช้นโยบายทางการเงินแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ของอิตาลีไม่พอใจต่อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของยูโรโซน

กระแส Italexit ในอนาคต

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แนวโน้มที่ปัญหา Italexit อาจจะเกิดขึ้นมาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่

  1. หากธนาคารกลางยุโรปได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินคาด จนทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในอิตาลีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่เดิม ปัญหาหนี้เสียดังกล่าวอาจจุดประกายแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปในอิตาลีให้กลับมาได้อีกครั้ง และอาจนำไปสู่ Italexit ในระยะต่อไป โดย SCBEIC (Siam Commercial Bank Economic Intelligence Center) ได้คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปอาจยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Quantitative Easing – QE) ภายในปี 2561 และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562
  2. การที่ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ยังยืนยันจะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งการเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนและการลดภาษี ซึ่งอาจขัดกับกฎระเบียบด้านการใช้จ่ายภาครัฐของสหภาพยุโรป
  3. การยืนยันการใช้มาตรการควบคุมผู้อพยพเข้าเมืองอย่างเข้มงวดของนายมัตเตโอ ซัลวินี่ หัวหน้าพรรค Forza Italia ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อถกเถียงภายในสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ หาก Italexit เกิดขึ้นมาอีกครั้ง และอิตาลีอาจจะกลับไปใช้สกุลเงินเดิมคือสกุล Lira แทนสกุลยูโร ซึ่งจะมีทั้งผลดีและผลเสียที่ตามมมา โดยผลดีคือ อิตาลีสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้อย่างอิสระมากขึ้น รัฐบาลสามารถพิมพ์ธนบัตรได้อย่างอิสระเพื่อที่ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องขึ้นตรงต่อยูโรโซน ค่าเงินจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการส่งออก และลดการนำเข้า แต่เมื่อมี
การเปลี่ยนแปลงค่าเงินแล้ว รัฐบาลของอิตาลีจะต้องมีความระมัดระวังในการใช้นโยบายทางการเงิน เพราะ
ถ้ารัฐบาลพิมพ์ธนบัตรเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับกรีซ และยังส่งผลถึงการเพิ่มทุนของบริษัทต่าง ๆ ที่เมื่อค่าเงินอ่อนค่าลงก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินในออกพันธบัตรมีค่าสูงขึ้นฉับพลัน ทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะลงทุนได้

ผลกระทบจากกระแส Italexit ต่อประเทศไทย

กระแส Italexit ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก และส่งผลต่อการลดลงของค่าเงินสกุลยูโรต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้น  อย่างไรก็ดี การที่กระแส Italexit ได้รับการแก้ไขจนเบาบางลงแล้วในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนและประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้ผ่อนคลายความกังวลกี่ยวกับผลที่จะเกิดขึ้นในทางลบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน โดยเฉพาะผลกระทบเชิงลูกโซ่ในกลุ่มธนาคารในยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้ของอิตาลี

นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในอิตาลีที่ลดลง จะส่งผลให้เศรษฐกิจในยูโรโซน และเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยไม่สะดุด แม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจนับตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์ Brexit เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดในเขตยูโรโซนและสหภาพยุโรป เนื่องจากไทยมีอัตราส่วนของการส่งออกไปยังประเทศในเขตยูโรโซนและสหภาพยุโรปสูงถึงร้อยละ 9 และร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังตลาดในเขตยูโรโซน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

*************************

ข้อมูลอ้างอิง

1. https://www.scbeic.com/th/detail/product/4488

2. http://www.thansettakij.com/content/265450

3. https://www.pptvhd36.com/news

4. https://thaipublica.org/2017/04/eic-5-4-2560/

5. https://www.ryt9.com/s/iq20/2836522

 

หมายเหตุ: ความเห็นและท่าทีต่าง ๆ ในบทความเป็นความเห็นส่วนบุคคลของผู้เรียบเรียงและไม่ได้สะท้อนท่าทีของกรมยุโรป ทั้งนี้ กรมยุโรปขอสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุง แก้ไขถ้อยคำ หรือถอดถอนบทความโดยไม่จำเป็นต้องเเจ้งให้ทราบล่วงหน้า