รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซียในปี ๒๕๖๐ และแนวโน้มในปี ๒๕๖๑

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซียในปี ๒๕๖๐ และแนวโน้มในปี ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 7,084 view
 


๑. ภาพรวมของเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๐ ตามข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Federal State Statistics Service – Rosstat) รายงานว่า GDP ของสหพันธรัฐรัสเซีย ในปี ๒๕๖๐ ขยายตัวร้อยละ ๑.๕ จากปี ๒๕๕๙ ซึ่งมี GDP ลดลงร้อยละ -๐.๒ และนับเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน และการส่งออก ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๐ สหพันธรัฐรัสเซียมีการส่งออกประมาณ ๔๑๐.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ ๕.๔ (สินค้าด้านพลังงานคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๖๐.๓) และนำเข้าประมาณ ๓๕๑.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ ๑๗ ภาคการผลิตที่มีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจการเงินและประกันภัย (ขยายตัวร้อยละ ๕.๐๗) การขนส่งและคลังสินค้า (ขยายตัวร้อยละ ๔.๓๓) การเกษตร ป่าไม้ และประมง (ขยายตัวร้อยละ ๓.๘๒) และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (ขยายตัวร้อยละ ๒.๒๖) ทั้งนี้ ผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ทำให้ภาวะการว่างงานของสหพันธรัฐรัสเซียลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ ๕.๒ โดยลดลงจากปี ๒๕๕๙ ที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ ๕.๕๔ และเป็นระดับการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ ๔.๒

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของสหพันธรัฐรัสเซียในปี ๒๕๖๐ จะมีสัญญาณของการเติบโตที่ดีขึ้นกว่า ๓ ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยเป็นผลกระทบมาจาก (๑) การที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังคงประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจด้านพลังงานต่อสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เพื่อตอบโต้กรณีที่สหพันธรัฐรัสเซียเข้ายึดครองแคว้นไครเมียของยูเครน (๒) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมีราคาเฉลี่ยต่ำกว่า ๕๐ ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล ทำให้สหพันธรัฐรัสเซียต้องสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปเป็นจำนวนมาก และ (๓) ประชากรสหพันธรัฐรัสเซียกว่าร้อยละ ๑๓.๘ หรือประมาณ ๒๐.๓ ล้านคนยังอยู่ในฐานะยากจน

๒. แนวโน้มเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซียในปี ๒๕๖๑

สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ คาดการณ์คล้ายกันว่าเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซียในปี ๒๕๖๑ ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดย GDP น่าจะเติบโตระหว่างร้อยละ ๑.๗–๑.๘ ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของ GDP ดังเช่นปี ๒๕๖๐ ขณะที่ตัวเลขผู้ว่างงานจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ ๕.๑ เช่นเดียวกับค่าเงินรูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากประมาณ ๕๘.๓๔ เป็น ๖๐.๒๗ รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตาม ได้แก่ (๑) ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ทำให้มีความเสี่ยงที่สหรัฐอเมริกาจะออกมาตรการคว่ำบาตรต่อสหพันธรัฐรัสเซียเพิ่มเติมจากกรณีไครเมีย (๒) การที่ภาครัฐของสหพันธรัฐรัสเซียมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป จนเกิดปัญหาคอร์รัปชันและการแทรกแซงทางการเมืองจนเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ (๓) การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ซึ่งคาดว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน จะได้รับเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย (เป็นสมัยที่ ๔) และมีแนวโน้มว่า รัฐบาลสหพันธรัฐรัสเซียจะเพิ่มมาตรการปกป้องทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากภายนอก โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตก ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อบรรยากาศของการลงทุนจากต่างประเทศ

๓. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหพันธรัฐรัสเซีย

๓.๑ ในปี ๒๕๖๐ ประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซียมีความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจ
ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านการค้าและการท่องเที่ยว โดยสหพันธรัฐรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๒๙ ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม ๓,๑๓๐.๓๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๙ ถึงร้อยละ ๖๑.๒๐ (มูลค่า ๑,๙๔๑.๘๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคิดเป็นการส่งออก ๑,๐๓๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า ๒,๐๙๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก ผลไม้กระป๋องแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญจากสหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาประเทศไทยในปีที่ผ่านมาถึง ๑.๔ ล้านคน ขยายตัวร้อยละ ๒๖ จากปี ๒๕๕๙ (มีจำนวน ๑,๐๘๙,๙๙๒ คน)

๓.๒ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันไว้ในการเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ซึ่งล่าสุด นาย Alexey Gruzdev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้นำนักธุรกิจชั้นนำของรัสเซีย จำนวน ๙๒ คน จาก ๕๑ รัฐวิสาหกิจ/บริษัท เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เพื่อศึกษาศักยภาพการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งมีการจัดงานสัมมนาทางธุรกิจและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจเพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมลู่ทางการค้าระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายด้วย

๓.๓ สำหรับแนวโน้มการค้ากับประเทศไทย ในส่วนของสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนสำหรับการผลิตต่าง ๆ คาดว่า สหพันธรัฐรัสเซียจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามการเติบโตเศรษฐกิจและการลงทุนของเอกชน อย่างไรก็ดี ในส่วนของสินค้าประเภทอาหารและเกษตรนั้น โดยที่ตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสหพันธรัฐรัสเซียได้พยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการเกษตรเพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ จนทำให้ปัจจุบันสหพันธรัฐรัสเซียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ซึ่งน่าจะลดโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังสหพันธรัฐรัสเซียในบางรายการ โดยประเทศไทยยังคงต้องผลักดันให้ฝ่ายรัสเซียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๐ สหพันธรัฐรัสเซียส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าถึง ๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕ จากปีก่อน และยังเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีลำดับหนึ่งของโลกด้วย

๓.๔ การที่ปัจจุบันสหพันธรัฐรัสเซียเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union – EAEU) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก ได้แก่ รัสเซีย คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย คาซัคสถาน และเบลารุส ทำให้มีการนำเอามาตรฐานสินค้าและระบบภาษีที่เป็นรูปแบบเดียวกันมาใช้กับประเทศคู่ค้าภายนอกกลุ่ม ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบจาก EAEU ดังกล่าวด้วย

  ดังนั้น การเร่งรัดกระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EAEU จึงเป็นนโยบายที่ฝ่ายไทยจะต้องเร่งผลักดันให้บรรลุผลโดยเร็ว เพื่อมิให้สินค้าของไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ เวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับ EAEU แล้ว และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Commission – EEC) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับอีก ๗ ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อิสราเอล อิหร่าน อินเดีย อียิปต์ เซอร์เบีย และจีน