สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐโรมาเนียในปี 2560 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐโรมาเนียในปี 2560 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 5,770 view
 

1. ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2560             

ในปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโรมาเนียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติโรมาเนีย (INS) ประกาศว่าในปี 2560 เศรษฐกิจของโรมาเนียเติบโตขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งสูงกว่าจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 6.9 โดยเป็นผลมาจาก (1) การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น (2) อุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคในภาคเอกชน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 จากปี 2559 ตามรายงานของสำนักงานสถิติ Eurostat)  (3)  รายได้ของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

สภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นดังกล่าวส่งผลในเชิงบวกต่ออัตราการว่างงาน ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.3 จากร้อยละ 5.9 ในปี 2559 และอัตราแลกเปลี่ยนเงิน รอน / ยูโร ที่อ่อนค่าลงอยู่ระหว่าง 4.48– 4.66 รอนต่อหนึ่งยูโร (แม้ธนาคารกลางโรมาเนียจะมีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน)  

สำหรับการค้ากับต่างประเทศของโรมาเนีย ในปี 2560 มีมูลค่ารวม 138.24 พันล้านยูโร โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 62.64 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากปี 2559 และการนำเข้ามูลค่า 75.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 สำหรับตลาดหลักของโรมาเนียยังคงเป็นกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.51 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของโรมาเนีย รองลงมาได้แก่ อิตาลี ร้อยละ 11.60 ฝรั่งเศส ร้อยละ 7.22 ฮังการี ร้อยละ 5.18 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 4.33 ตามลำดับ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโรมาเนียในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าเงินรอนต่อยูโรที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น (ร้อยละ 3.3 ณ ธันวาคม 2560)         

ทั้งนี้ ในปี 2560 รัฐบาลโรมาเนียได้ริเริ่มนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การผลักดันโครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ โครงการ Start up ซึ่งใช้งบกว่า 1.7 พันล้านรอน (ประมาณ 365 พันล้านยูโร) เพื่อส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ในโรมาเนีย ตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง ผ่านการอนุมัติเงินทุนให้เปล่าสำหรับตั้งต้นธุรกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่จำนวน 200,000 รอน (ประมาณ 42,950 ยูโร) ต่อราย โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ได้รับเงินทุนต้องดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มต้นธุรกิจของตนเองซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวตามมา นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งหวังเพิ่มอัตราการจ้างงานในโรมาเนียให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีผู้เสนอแผนการลงทุนภายใต้โครงการ Start up เป็นจำนวน 10,000 แผนงาน เพื่อให้เกิดสร้างงานกว่าใหม่กว่า 10,000 ตำแหน่ง (1 แผนการลงทุนต่อ 1 การจ้างงาน)

 2. แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561

Eurostat คาดการณ์ว่าในปี 2561 เศรษฐกิจของโรมาเนียจะเติบโตลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.4  
สืบเนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่จะปรับลดลง และอัตราค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินรอนยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ ราคาอาหาร และสินค้าต่าง ๆ ที่จะปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อรายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโดยรวมของโรมาเนียจะยังเติบโตในระดับที่น่าพอใจ เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ร่วมกับการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลโรมาเนียมีแผนที่จะใช้เงินจากกองทุน European Funds ให้ได้ถึง 30 พันล้านยูโรภายในปี 2563

ในส่วนของภาคการคลังของโรมาเนีย คาดว่ารัฐบาลจะยังคงขาดดุลงบประมาณกว่า 3.97 พันล้านยูโร อันเป็นผลมาจากการขึ้นเงินเดือนทั่วประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ทั้งนี้ ในปี 2561 คาดว่ารัฐบาลโรมาเนียจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากยังคงมีสัดส่วนรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันต่อภาครัฐค่อนข้างสูง ตามการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็น 1,990 รอนต่อเดือน (ประมาณ 408 ยูโรต่อเดือน) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลโรมาเนียต้องใช้มาตรการด้านการคลังที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดตัวเลขหนี้สาธารณะในปี 2561

3. มูลค่าการค้าไทย-โรมาเนีย

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโรมาเนีย ในปี 2560 มีมูลค่ารวม 230.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.44 จากปีก่อน โดยเป็นการส่งออกไปโรมาเนีย 136.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 12.57) และนำเข้า 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 9.83) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อโรมาเนีย 42.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ วงจรพิมพ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ

สินค้านำเข้าของไทยที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

4. ข้อสังเกต/ข้อสนเทศเพิ่มเติม

สภาวะทางเศรษฐกิจของโรมาเนียตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา มีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับโรมาเนียยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพจริงของทั้งสองประเทศ เนื่องจากความสนใจของภาคเอกชนระหว่างกันยังคงมีน้อย โดยมีข้อจำกัดด้านภาษา ระยะทาง การขนส่ง และการขาดการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพบปะระหว่างให้ภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560 สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ (มีเขตอาณาครอบคลุมโรมาเนียและบัลแกเรีย) ได้นำคณะผู้บริหารสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติโรมาเนียและนักธุรกิจชาวโรมาเนียเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงาน THAIFEX 2017 และได้พบหารือกับรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (นายสนั่น อังอุบลกุล) และนักธุรกิจไทย เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับโรมาเนียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สถานเอกอัครราชทูตฯ มีความเห็นว่า สินค้าของไทยที่มีศักยภาพและลู่ทางในการขยายตลาดในโรมาเนียในปัจจุบัน ได้แก่ 1) สินค้าประเภทอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม อาทิ อาหารแปรรูปต่าง ๆ (กระป๋อง/แช่แข็ง/สำเร็จรูป) เครื่องดื่มและกากถั่วเหลือง (เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม      ปศุสัตว์) เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพจะส่งออกมายังโรมาเนียได้มากขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคท้องถิ่น (เนื่องจากโรมาเนียยังไม่สามารถผลิตได้ดีหรือเพียงพอ) 2) เครื่องจักรกลและอุปกรณ์เพื่อการเกษตร รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากปัจจุบันโรมาเนียเป็นฐานการผลิตรถยนต์/เครื่องจักรของยุโรป ที่ทำรายได้ส่งออกสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโรมาเนีย ทั้งนี้ รถยนต์ยี่ห้อ Dacia ซึ่งเป็นรถยนต์ของโรมาเนียกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศยุโรปตะวันตก จึงเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการไทยอาจเข้ามาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือร่วมเป็นคู่ค้าในการส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ผลิตในไทยเป็นส่วนประกอบของยานยนต์ที่ผลิตในโรมาเนีย และ 3) วัตถุดิบสำหรับสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย อาทิ  สิ่งทอ ด้ายและเส้นใยผลิต เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นของโรมาเนียกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเริ่มได้รับการยอมรับสูงขึ้นในตลาดยุโรป โดยปัจจุบันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโรมาเนีย