สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐบัลแกเรียในปี 2560 และแนวโน้มปี 2561

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจของสาธารณรัฐบัลแกเรียในปี 2560 และแนวโน้มปี 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,195 view

1.       ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2560

ในปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของบัลแกเรียเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสถิติของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission – EC)  ได้ประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของบัลแกเรียไว้ที่ร้อยละ 3.9 ซึ่งเท่ากับปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) อุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น (2) การบริโภคภายในประเทศที่สูงขึ้นจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น (3) การฟื้นตัวของภาคการลงทุนภายในประเทศ และ (๔) การที่บัลแกเรียยังเป็นประเทศที่มีค่าแรงไม่สูง กอปรกับ การเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทำให้สามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อการพัฒนาของสหภาพยุโรปได้โดยได้รับเงินสนับสนุนกว่า 9 พันล้านยูโร จนถึงปี 2563

ด้านอัตราเงินเฟ้อของบัลแกเรียในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.9  และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี ๒๕๖๑ น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.1 อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเพิ่มกำแพงภาษีด้านพลังงานภายในประเทศ รวมถึงอัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อราคาค่าแรงและการบริโภคในภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของบัลแกเรียยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของการลงทุนในประเทศซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ร้อยละ 6.1  (จากร้อยละ 7.6 เมื่อปี 2559) ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเลวาต่อยูโรอยู่ที่ 1.95583 เลวา/ยูโร ทั้งนี้ ธนาคารกลางของบัลแกเรียมีนโยบายแทรกแซงค่าเงินโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเลวาต่อยูโรแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate System) เพื่อป้องกันการผันผวนของค่าเงิน

          สำหรับการค้ากับต่างประเทศ สถาบันสถิติแห่งชาติบัลแกเรียรายงานว่า ในช่วงเดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2560 การค้าต่างประเทศของบัลแกเรียมีมูลค่ารวม 46.93 พันล้านยูโร โดยเป็นการส่งออก22.25 พันล้านยูโร และนำเข้า 24.68 พันล้านยูโร ตลาดหลักของบัลแกเรียยังคงเป็นประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ที่มีมูลค่าการค้ารวม 6.07 พันล้านยูโร (รองลงมา ได้แก่  อิตาลี 3.68 พันล้านยูโร โรมาเนีย 3.59 พันล้านยูโร  ตุรกี 3.29 พันล้านยูโร  และรัสเซีย 3.07 พันล้านยูโร)

          นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของบัลแกเรียในปี ๒๕๖๐ (1) ส่งเสริมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ Start-up and Scale-up Initiative และพัฒนาแหล่งสนับสนุนเงินทุนและพัฒนาภาคธุรกิจ SMEs (2) การกำหนดระบบการจัดเก็บภาษีที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ร้อยละ 10  (๓) อำนวยความสะดวก/ลดขั้นตอนการเปิดบริษัทในบัลแกเรีย (๔) ให้นักลงทุนต่างชาตินอกสหภาพยุโรปมีสิทธิในการพำนักอาศัยในประเทศอย่างไม่มีกำหนดได้ หากมีการลงทุนเกินกว่า 1 ล้านเลวา (ประมาณ 511,292 ยูโร) อีกด้วยรวมถึงบัลแกเรียมีแรงงานทักษะสูง
2.       แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561

          อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ - Eurostat คาดการณ์ว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจบัลแกเรียจะเติบโตที่ร้อยละ 3.8 โดยลดลงเล็กน้อยจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.9 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศลดลง จากอัตราค่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าครองชีพ ราคาสินค้า รวมถึงสาธารณูปโภคปรับตัวสูงขึ้น กระทบรายได้ของการบริโภคภาคครัวเรือน และทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตของภาคการส่งออกและนำเข้าจะชะลอตัวด้วย  

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจบัลแกเรียโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สืบเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล และนโยบายการคลังที่รัดกุมของบัลแกเรีย ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ เช่นเดียวกับการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้าในภาคต่าง ๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคสถาบันการเงิน และระบบภาษี ทำให้บัลแกเรียมีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ซึ่งการรักษาความต่อเนื่องในการพัฒนาบรรยากาศการลงทุนนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของบัลแกเรียในภาพรวมต่อไป

          หนี้สาธารณะและมาตรการด้านการคลัง - Eurostat คาดการณ์ว่าในปี 2561 บัลแกเรียจะมีหนี้สาธารณะลดลงและมีสถานะทางการคลังที่มั่นคงขึ้นจากนโยบายการคลังที่เข้มงวด โดยรัฐบาลบัลแกเรียสามารถลดหนี้สาธารณะลงในปี 2560 เหลือที่ร้อยละ 25.7 ของ GDP ซึ่งลดลงจากปี 2559 ถึงร้อยละ 3.3 จากการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและการทยอยชำระหนี้สาธารณะบางส่วน

          ค่าแรงขั้นต่ำ - ค่าจ้างขั้นต่ำของบัลแกเรียอยู่ที่ 510 เลวาต่อเดือน (260 ยูโร) (ณ เดือนมกราคม 2561) โดยปรับสูงขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 460 เลวาต่อเดือน (235 ยูโร) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น และจากข้อมูลของ Trading Economics ได้คาดการณ์ตัวเลขการจ้างงานระหว่างไตรมาสที่ 1 – 3 ของปี ๒๕๖๑ ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 51.83 ขยับสูงขึ้นไปสู่ร้อยละ 53.25 ในไตรมาสที่ 3 ของปี ๒๕๖๑ และค่าแรงขั้นต่ำจะคงที่ตลอดปี ๒๕๖๑ ที่ประมาณ 512 เลวาต่อเดือน (261 ยูโร)

          อัตราเงินเฟ้อ – คาดว่าจะจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5

3.       มูลค่าการค้าไทย-บัลแกเรีย
          ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การค้าระหว่างไทยกับบัลแกเรียในปี 2560 มีมูลค่ารวม 102.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 17.60 โดยไทยส่งออกไปบัลแกเรีย 49.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 30.19) และนำเข้าจากบัลแกเรีย 53.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 7.85)  โดยไทยยังเป็นฝ่ายเสียดุลการค้ามูลค่า 3.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงถึงร้อยละ 68.99 จากปี ๒๕๕๙) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ วงจรพิมพ์ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ และเส้นใยประดิษฐ์ ส่วนสินค้านำเข้าจากบัลแกเรียที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และยุทธปัจจัย เป็นต้น

4.       ข้อสนเทศเพิ่มเติม

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของบัลแกเรีย ถึงแม้ว่าบัลแกเรียจะติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดใน
สหภาพยุโรป แต่มาตรฐานคุณภาพชีวิตเริ่มสูงขึ้น โดยบัลแกเรียเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดี เนื่องจากมีข้อได้เปรียบจากค่าจ้างแรงงานที่ยังต่ำ ประชากรมีการศึกษาสูงและพูดได้หลายภาษา กอปรกับบัลแกเรียมีทำเลที่ตั้งที่ดี มีอาณาเขตติดกับหลายประเทศ (ทางเหนือติดกับโรมาเนีย ทางตะวันออกติดกับทะเลดำ ทางตะวันตกติดกับเซอร์เบียและมอนเตเนโกร และมาซิโดเนียทางใต้ติดกับกรีซและตุรกี) จึงสามารถใช้บัลแกเรียเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านโดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลได้ นอกจากนี้ บัลแกเรียยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก หากได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ประโยชน์จะสามารถเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของบัลแกเรียได้

          โอกาสทางเศรษฐกิจของไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ ให้ข้อคิดเห็นถึงประเภทธุรกิจที่มีศักยภาพสำหรับฝ่ายไทยในการเข้าไปลงทุน หรือทำการค้าขายกับบัลแกเรีย ได้แก่  (1)  ธุรกิจบริการที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น ร้านอาหาร สปา และธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากบัลแกเรียมีค่าครองชีพไม่สูงและมีทัศนียภาพที่งดงาม  (2)  สินค้าอุปโภคบริโภคและการผลิตอาหารที่มีคุณภาพในราคาถูก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคชาวบัลแกเรียแทนการนำเข้าจากยุโรป และ (3) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของบัลแกเรียที่มีจำนวนมากในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย เช่น บอกไซต์ ทองแดง ตะกั่ว ถ่านหิน เหล็ก โครเมียม แมงกานีส ทองคำ และไม้ เป็นต้น