Horizon 2020 Work Program 2016-2017 และก้าวต่อไปของ Horizon 2020

Horizon 2020 Work Program 2016-2017 และก้าวต่อไปของ Horizon 2020

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,816 view

Horizon 2020 Work Program 2016-2017 และก้าวต่อไปของ Horizon 2020

โดย นายนิธิพัศ นันทวโรภาส

น.ส. ณภัทร วัชราภรณ์

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

 

Horizon 2020 เป็นชื่อเรียกของโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปซึ่งดำเนินการต่อจากกรอบแผนงานเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี ฉบับที่ 7 (Seventh Framework Program for Research and Technological Development - FP7) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเปิดให้หน่วยงานและสถาบันในสหภาพยุโรปเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณมาใช้ในการทำการวิจัย โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานและสถาบันในสหภาพยุโรปสามารถร่วมมือในด้านการวิจัยกับประเทศที่สามได้

โครงการ Horizon 2020 มีกรอบเวลาดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2557-2563 ภายใต้เงินทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัยรวม 80 พันล้านยูโร ซึ่งถือเป็นโครงการที่ให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัยด้าน “Research and Innovation" มากที่สุดของสหภาพยุโรป โดยโครงการ Horizon 2020 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เนื่องจากที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2551 และประเทศสมาชิกหลายประเทศยังคงประสบปัญหาอัตราการว่างงานที่สูงอยู่ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังประสงค์ที่จะส่งเสริมให้สหภาพยุโรปเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ โดยการเน้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนและหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานที่ยั่งยืน การดำเนินการตามโครงการฯ เน้นจุดแข็งของสหภาพยุโรป คือ "ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรม และการจัดการกับความท้าทายทางสังคม"  ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการฯ จะนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย  การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

สำหรับในช่วงปี 2559-2560 คณะกรรมการพิจารณาโครงการ Horizon 2020 ของสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์หลัก 3 ประการ คือ "Open Innovation” “Open Science” และ “Open to the World"

  • Open Innovation หมายถึง การแสวงหาและรวมแหล่งข้อมูลต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น นักวิจัย ผู้ใช้ และผู้ขาย เพื่อรับรองการใช้นวัตกรรมที่ดี
  • Open Science หมายถึง การเข้าถึงผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการ ในขณะที่การตรวจสอบให้แน่ใจว่าการวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง
  • Open to the World หมายถึง การร่วมมือกับส่วนอื่น ๆ ของโลกเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ

คณะกรรมการโครงการฯ ได้ปรับปรุงแนวคิดและกระบวนการเข้าร่วมโครงการ Horizon 2020 อาทิเช่นการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยแก่โครงการใหม่ๆเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกตลอดจนเปิดโอกาสให้สถาบันวิจัยภายนอกสหภาพยุโรปยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการฯ ได้  นอกจากนี้ คณะกรรมการโครงการฯ ยังให้ความสำคัญกับการต่อยอดธุรกิจจากการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันและกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างและการลงทุนในยุโรป (European Structural and Investment Funds) เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับภาคธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

สาขางานวิจัยที่โครงการ Horizon 2020 ประจำปี 2559-2560 ให้ความสำคัญ

โครงการ Horizon 2020 ประจำปี 2559-2560 นี้ ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการจ้างงาน การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันแก่ประเทศสมาชิก โดยใช้ประโยชน์จาก "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล สาขางานวิจัยที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญประกอบด้วย

- การลงทุนในรูปชอง "ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน" ระหว่างสหภาพยุโรปกับภาคเอกชนที่อยู่ในแวดวงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในสาขาที่สำคัญ เช่น เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ และสารเคมี

- การลงทุนใน "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" (SMEs) เพื่อสนับสนุนการวิจัย

การลงทุนใน "โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย" เพื่อให้สามารถจัดเก็บ เข้าถึง และใช้ข้อมูลการวิจัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการให้ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมทั้งสหภาพยุโรป (Pan-EU)

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง  และการปรับปรุงความปลอดภัยระบบดิจิทัลด้วยวิธีใหม่ในการวิเคราะห์ "Big Data" (ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดเล็กจำนวนมาก)

- การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสหภาพยุโรปผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี  เช่นโครงการ "Smart and Sustainable Cities" โดยเน้นการอนุรักษ์พลังงานในเมืองที่มีเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด

- การมีฐานอุตสาหกรรมที่เป็นธรรมและดีขึ้น สำหรับสหภาพยุโรปในการรักษาตลาดที่เป็นธรรม และปรับปรุงขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมไปด้วย โดยมีนโยบาย "Industry 2020 in the Circular Economy" เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ

- มีความคิดริเริ่มด้าน "Blue Growth" เพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลโดยไม่ทำลายระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในภาคการผลิตอาหาร และการขนส่งสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น (ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ฯลฯ)

 

ก้าวต่อไปของโครงการ Horizon 2020 ประจำปี 2561-2563

เมื่อเดือนเมษายน 2560 คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้จะช่วยลดความซับซ้อนของขั้นตอนและกฎระเบียบของกรอบโครงการ Horizon 2020 ในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงปี 2561-2563 ดังนี้

  • การปรับปรุงสัญญา Horizon 2020 Model Grant Agreement ซึ่งมีการนำเสนอนิยามใหม่ของค่าตอบแทนที่ให้แก่นักวิจัย และลดความซับซ้อนในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปิดกว้างมากขึ้นให้แก่ผู้สมัครหรือพันธมิตรนานาชาติที่ไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปและขยาย      การจัดการการให้ทุนแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • การสร้างความคล่องตัวให้แก่แผนดำเนินงานของกรอบโครงการ Horizon 2020 ระหว่างปี 2561-2563 โดยแผนดำเนินงานฉบับใหม่ของกรอบโครงการ Horizon 2020 จะมุ่งเน้นการวิจัยและการรังสรรค์นวัตกรรมในสาขาหลัก ๆ ที่สำคัญ ดังนั้นหัวข้อที่เปิดรับสมัครให้ทุนวิจัยก็จะมีความเฉพาะมากยิ่งขึ้น
  • ปรับปรุงโครงการให้มีความสอดคล้องและง่ายต่อการเข้าร่วมของบริษัท Startups และผู้นวัตกรรมรวมถึงการนำเครื่องมือของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาใช้เพื่อส่งเสริมการสร้าง นวัตกรรมในหลาย ๆ สาขา
  • การให้ทุนวิจัยจะมีการให้เงินก้อนแบบเหมารวม (lump sum) อย่างกว้างขวางขึ้น เพื่อลดภาระด้านการจัดการและการบริหารของผู้เข้าร่วมโครงการ

 

ประโยชน์จากโครงการ Horizon 2020 ต่อประเทศไทย

โครงการ Horizon 2020 เป็นเครื่องมือที่จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยของสหภาพยุโรปมีโอกาสร่วมงานกับนักวิจัยจากประเทศที่สามเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมที่ทั่วโลกกำลังประสบ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ  ทั้งนี้ นักวิจัยจากประเทศไทยสามารถยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยโดยร่วมกับสถาบันวิจัยในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งจะทำให้ฝ่ายไทยได้รับประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัย (Research Infrastructures) ของสหภาพยุโรป โดยสาขาความร่วมมือที่ฝ่ายไทยอาจพิจารณาร่วมกับสหภาพยุโรปในการทำการวิจัยร่วมกันอาจประกอบด้วย การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตรกรรม การเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตัล เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของเทคโนโลยีดิจิตัลนั้น ฝ่ายไทยอาจนำเสนอข้อเสนอโครงการเพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ  เช่น โครงการเทคโนโลยีการบริหารจัดการจราจร เพื่อลดการติดขัดของจราจรในเขตเมืองตามแผนการ "Smart and Sustainable Cities" ซึ่งเป็น 1 ใน 12 สาขาที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการบริหารจัดการลดประมาณขยะ รวมถึงการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชากรเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม และมุ่งเน้นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น

 

หมายเหตุ: ความเห็นและท่าทีต่าง ๆ ในบทความเป็นความเห็นส่วนบุคคลของผู้เรียบเรียงและไม่ได้สะท้อนท่าทีของกรมยุโรป ทั้งนี้ กรมยุโรปขอสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุง แก้ไขถ้อยคำ หรือถอดถอนบทความโดยไม่จำเป็นต้องเเจ้งให้ทราบล่วงหน้า