ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของสาธารณรัฐโปแลนด์ในปี ๒๕๖๐ และแนวโน้มในปี ๒๕๖๑

ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจของสาธารณรัฐโปแลนด์ในปี ๒๕๖๐ และแนวโน้มในปี ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,700 view

ภาวะเศรษฐกิจของสาธารณรัฐโปแลนด์ปี ๒๕๖๐

เศรษฐกิจโปแลนด์เติบโตร้อยละ ๔.๒ อัตราเงินเฟ้อร้อยละ ๒.๑ ใช้การบริหารงบประมาณแบบขาดดุลต่ำกว่าร้อยละ ๓ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของสาธารณรัฐโปแลนด์ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ มีมูลค่าการส่งออก ๒๓๒.๓๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๗  และการนำเข้า ๒๓๐.๓๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๑ โดยฝ่ายโปแลนด์ได้ดุลการค้า ๒.๒๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดส่งออกหลักของสาธารณรัฐโปแลนด์ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหพันธรัฐรัสเซีย ทั้งนี้ สาธารณรัฐโปแลนด์ได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่เสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเป็นส่วนมาก

ในปี ๒๕๖๐ รัฐบาลสาธารณรัฐโปแลนด์ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ Strategy for Responsible Development (SOR) เพื่อเป็นแผนแม่บทระยะยาวสำหรับพัฒนาประเทศจนถึงปี ๒๕๗๓ โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินทุนและงบประมาณ และขยายสถานะของสาธารณรัฐโปแลนด์ในตลาดโลก โดยกำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (new engine of growth) ด้วยการเน้นพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อันจะเป็นอุตสาหกรรมสาขาแรกที่สาธารณรัฐโปแลนด์สามารถเป็นผู้นำการผลิตโดยมิได้เป็นเพียงผู้รับเทคโนโลยีเท่านั้น โดยจะเริ่มจากการผลิตใช้ภายในประเทศก่อน ด้วยการทยอยเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะในเมืองต่าง ๆ ให้เป็นรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและจะผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถโดยสารของสาธารณรัฐโปแลนด์ อาทิ Solaris Ursus และ Autosan เป็นบริษัทผู้ผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๐ อุตสาหกรรมยานยนต์ได้สร้างมูลค่าการส่งออกให้แก่สาธารณรัฐโปแลนด์กว่า ๓ หมื่นล้านยูโร โดยสาธารณรัฐโปแลนด์ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคและมียานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวน ๑ ล้านคัน ภายในปี ๒๕๖๘

 

แนวโน้มเศรษฐกิจของสาธารณรัฐโปแลนด์ปี ๒๕๖๑

          คาดว่า เศรษฐกิจของสาธารณรัฐโปแลนด์จะเจริญเติบโต ร้อยละ ๓.๘ ซึ่งลดลงจากปี ๒๕๖๐ เนื่องจากนโยบายลดอายุการเกษียณจาก ๖๗ ปี เป็น ๖๐ ปี สำหรับผู้หญิง และ ๖๕ ปี สำหรับผู้ชาย โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน รวมถึงทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐโปแลนด์มีภาระต้องจ่ายเงินบำนาญมากขึ้น ทั้งนี้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลสาธารณรัฐโปแลนด์และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสาธารณรัฐโปแลนด์เพิ่งได้รับเงินจากกองทุน Cohesion Fund ของสหภาพยุโรปในสองงวดสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ จำนวน ๑.๔ พันล้านยูโร เพื่อสนับสนุนโครงการ Polish Environment and Infrastructure Projects 2007-2013 Development Fund มูลค่ารวม ๒๘ พันล้านยูโร

                      

การค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโปแลนด์

   การค้าไทย-สาธารณรัฐโปแลนด์ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ มีมูลค่า ๖๘๒.๙๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๕๙ ร้อยละ ๑๖.๑๖ คิดเป็นการส่งออก ๔๑๘.๘๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๘๙) การนำเข้า ๒๖๔.๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๐๘) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า ๑๕๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๒.๖๔)