สหภาพยุโรป (The European Union - EU)

สหภาพยุโรป (The European Union - EU)

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ต.ค. 2567

| 373,352 view
สหภาพยุโรป (The European Union - EU)

 
ข้อมูลทั่วไป

 

ภูมิหลัง / แนวคิดการจัดตั้ง

สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคยุโรปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในลักษณะสถาบันแบบเหนือรัฐ (Supranational Institution) ที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสันติภาพเป็นการถาวรระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิกและการมีบทบาทนำของ EU ในประชาคมโลก

กระบวนการถ่ายโอนอำนาจการบริหารจากประเทศสมาชิกไปสู่การเป็นองค์การเหนือรัฐของสหภาพยุโรปมีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การรวมกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1950 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประเทศยุโรปตะวันตก 6 ประเทศ ได้ร่วมกันจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป (European Coal and Steel Community - ECSC) ขึ้น ซึ่งแม้เป้าหมายสูงสุดของ    การรวมกลุ่มจะมีขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมืองในการควบคุมการผลิตวัตถุดิบที่อาจนำไปสู่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสงคราม และเลือกใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการผลิตเป็นตัวนำเพื่อคลายความระแวงสงสัยระหว่างกันก็ตาม การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ต่อมาในปี ค.ศ. 1957 ได้ขยายการรวมกลุ่มครอบคลุมภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยประเทศสมาชิก    ได้ลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community - EEC) เพื่อให้เป็นทั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) และตลาดร่วม (Common Market) ถือเป็นกระบวนการรวมกลุ่มด้านเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ในปี ค.ศ. 1990 ในช่วงหลังสงครามเย็น ฝรั่งเศสและเยอรมนีเสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพการเมืองของยุโรปเพื่อให้มีการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งท้ายที่สุด นำไปสู่   การลงนามในสนธิสัญญามาสทริชท์ (Treaty of Maastricht) เพื่อจัดตั้งสหภาพยุโรป (European Union – EU) ขึ้นในปี ค.ศ.1992 รวมไปถึงการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันด้วย ต่อมา ในปี ค.ศ.2007 ประเทศสมาชิก EU ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อตอบสนองกระบวนการบูรณาการภายใน EU ที่ก้าวหน้าขึ้นและบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของ EU ในประชาคมโลก จึงได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) โดยประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ความร่วมมือเหนือชาติ (supranational cooperation) ในเรื่อง (1) สหภาพศุลกากร (customs union) (2) การออกกฎระเบียบด้านการแข่งขัน (competition rules) (3) นโยบายด้านการเงิน (monetary policy) สำหรับรัฐสมาชิก EU ที่ใช้สกุลเงินยูโร (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทางทะเล (marine biological resources) ภายใต้นโยบายร่วมด้านประมง และ (5) นโยบายการค้าร่วม (common commercial policy) ทั้งนี้ สนธิสัญญาลิสบอนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009

ปัจจุบัน EU มีรัฐสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ (โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2556 และสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563) มีระบบตลาดร่วม ระบบภาษีศุลกากรร่วม การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน 19 ประเทศสมาชิก (ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ไซปรัส เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย และสเปน) และมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม

 

โครงสร้าง / สถาบันหลัก / กลไกการดำเนินงานและตัดสินใจ

โครงสร้างการทำงานของ EU ประกอบด้วย 4 สถาบันหลัก คือ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) คณะมนตรียุโรป (European Council) คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) และสภายุโรป (European Parliament) ซึ่งมีอำนาจและความสำคัญต่อการดำเนินงานของ EU ดังนี้

1. คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกอบด้วยคณะผู้บริหารสูงสุดเรียกว่า College of Commissioners จำนวน 27 คน และข้าราชการประจำจำนวนประมาณ 25,000 คน คณะผู้บริหารฯ ประกอบด้วยประธานคณะกรรมาธิการ 1 คน และกรรมาธิการอีก 27 คน (ตามจำนวนรัฐสมาชิก 27 ประเทศ ) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยความเห็นชอบของสภายุโรป (ซึ่งมีอำนาจลงมติไม่รับรองคณะผู้บริหารคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งคณะ แต่ไม่มีอำนาจที่จะเลือกไม่รับรองกรรมาธิการเป็นรายบุคคล) คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นสถาบันหลักในด้านการบริหารของ EU ตั้งอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม มีหน้าที่ในการเสนอร่างกฎระเบียบของ EU ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรป (ในกรณีทั่วไปโดยส่วนใหญ่) ก่อนที่รัฐสมาชิก EU และ/หรือสถาบันของ EU ที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมของ EU และทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ EU (Guardian of the Treaties) ของรัฐสมาชิก หากตรวจพบการละเมิดกฎระเบียบของ EU คณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจที่จะฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ปัจจุบัน นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) สัญชาติเยอรมัน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 

2. คณะมนตรียุโรป (European Council) เป็นเวทีการประชุมของประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU โดยมีการประชุมคณะมนตรียุโรปอย่างเป็นทางการปีละ 4 ครั้ง (และประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้ง) โดยผู้นำ EU จะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญต่อ EU และแม้ว่าผลการประชุมของคณะมนตรียุโรปจะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบาย ทั้งกิจการภายใน EU และนโยบายต่างประเทศของ EU และเป็นกรอบปฏิบัติให้กับสถาบันอื่นๆ ของ EU สนธิสัญญาลิสบอนได้ให้สถานะทางกฎหมายแก่คณะมนตรียุโรปและมีการสร้างตำแหน่งใหม่ คือ ประธานคณะมนตรียุโรป (President of the European Council) ซึ่งปัจจุบันนายชาร์ล มีแชล (Charles Michel) สัญชาติเบลเยียม อดีต นรม. เบลเยียม ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะมนตรียุโรปและมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทน EU หลักด้านการต่างประเทศ

3. สภายุโรป (European Parliament) สมาชิกสภายุโรปอยู่ในวาระครั้งละ 5 ปี มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในรัฐสมาชิก EU เดิมมีบทบาทด้านนิติบัญญัติจำกัดและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอร่างกฎระเบียบของ EU อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาลิสบอนได้เพิ่มอำนาจให้กับสภายุโรปในการพิจารณารับรองร่างกฎระเบียบของ EU เพิ่มขึ้นกว่า 50 สาขา ภายใต้ ‘co-decision procedure’ ทำให้สภายุโรปมีบทบาทเท่าเทียมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในการพิจารณารับรองกฎระเบียบของ EU ซึ่งครอบคลุมถึงความตกลงระหว่าง EU กับประเทศที่สาม อาทิ ความตกลงเขตการค้าเสรี และกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับ EU ด้วย ปัจจุบัน นายดาวิด มารีอา ซัสโซลี (David Maria Sassoli) สัญชาติอิตาลี จากพรรค Progressive Alliance of Socialists and Democrats แนวคิดสังคมประชาธิปไตย (S&D) ดำรงตำแหน่งประธานสภายุโรป นอกจากนี้ สมาชิกสภายุโรปมีการรวมตัวเป็นกลุ่มที่ดูแลความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศต่างๆ โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน มีนาย Daniel Caspary สัญชาติเยอรมัน สมาชิกสภายุโรป พรรค EPP/Christian Democrats เป็นประธาน

4. คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the European Union) เป็นองค์กรตัดสินใจหลักของ EU โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐสมาชิก EU ทั้งหมด (ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ตามสาขาของนโยบายที่หารือ) จึงเป็นที่มาของคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “Council of Ministers” และมีหน้าที่พิจารณาร่างกฎระเบียบของ EU และอนุมัติงบประมาณ (ร่วมกับสภายุโรป) และเป็นเวทีสำคัญในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (CFSP) ตลอดจนกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และประสานงานเรื่องอื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิก EU ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะผลัดกันทำหน้าที่เป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป วาระ 6 เดือน ปัจจุบัน สโลวีเนียทำหน้าที่ดังกล่าว (ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2564) โดยจะทำหน้าที่ประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก EU ในสาขาต่างๆ ยกเว้นในด้านการต่างประเทศ ซึ่งสนธิสัญญาลิสบอนกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง

นอกจากนี้ สนธิสัญญาลิสบอนได้กำหนดให้มีตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (EU High Representative for Foreign Affairs and Security Policy) (เทียบเท่า รมว.กต.) เพิ่มเติมด้วย โดยได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรียุโรป มีหน้าที่ดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่มาจากการตัดสินใจร่วมกันของประเทศสมาชิก และเป็นประธานในการประชุม รมว.กต. ของประเทศสมาชิก EU (แทนระบบประเทศสมาชิกผลัดกันเป็นประธาน วาระละ 6 เดือน) ทั้งนี้ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศฯ จะดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปอีกตำแหน่งด้วย ปัจจุบัน นายโฮเซป บอร์เรลล์ ฟอนเตเยส (Josep Borrell Fontelles) สัญชาติสเปน ดำรงตำแหน่งดังกล่าว


*****************************************

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
16 กันยายน 2567