เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมการอภิปรายเพื่อเผยแพร่แนวทางการพัฒนาทางเลือกของไทย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน เข้าร่วมการอภิปรายเพื่อเผยแพร่แนวทางการพัฒนาทางเลือกของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,282 view
 

          เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 เวลา 18.00 น. เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้เข้าร่วมการอภิปราย เรื่อง “Connecting Forest Protection and Alternative Development – New Approaches in German Development Cooperation with Colombia ที่สถาบัน Ibero-American Institute กรุงเบอร์ลิน ซึ่งจัดโดย Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) ในนามของกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และสำนักงานกรรมาธิการด้านยาเสพติดสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านนโยบายยาเสพติดและการพัฒนา (Global Partnership on Drug Policies and Development หรือ GPDPD) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง GIZ กับมูลนิธิ  แม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนแก่ประเทศที่ประสบปัญหา   การปลูกพืชเสพติดทั่วโลก ร่วมกับสถาบัน Ibero-American Institute

 

         ผู้ร่วมอภิปรายในงานดังกล่าวประกอบด้วย เอกอัครราชทูตฯ ซึ่งได้กล่าวในหัวข้อ “Thailand as an example of good alternative development practices and its cooperation with GIZ” ผู้แทนจาก GIZ ได้แก่ นาย Daniel Brombacher หัวหน้าโครงการ Global Partnership on Drug Policies and Development (GPDPD) และนาง Rhena Hoffmann หัวหน้าโครงการ Protection of Forests and Climate/REDD+ และนาย Cesar Augusto Rey Angel จากกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโคลอมเบีย   

 

         เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวเกี่ยวกับประสบการณ์ของไทยในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ โดยนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้นำแนวทางการพัฒนาทางเลือกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด อันมีต้นเหตุมาจากปัญหาความยากจน โดยเสนอทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชน อาทิ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ดี เช่น ถั่วแมคคาเดเมีย กาแฟ แทนการปลูกพืชเสพติด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สินค้าหัตถกรรม ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ต้องบูรณาการการทำงาน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควรต้องดำเนินไปอย่างสมดุล

 

         ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ สามารถขจัดการปลูกฝิ่นให้หมดไปและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่สูง ซึ่งไทยได้แบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกทั้งในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่ คณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) และในกรอบความร่วมมือไตรภาคี ซึ่งเยอรมนี โดย BMZ และ GIZ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ Global Partnership on Drug Policies and Development เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยและให้คำปรึกษาแก่ประเทศภาคีที่ประสบปัญหายาเสพติด เช่น โคลอมเบีย เมียนมา และโมร็อกโก

 

         เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่มีสูตรสำเร็จและต้องอาศัยเวลา โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีโดยใช้ความรู้และคุณธรรมประกอบการวางแผนและการตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่างๆ เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

         ผู้ร่วมอภิปรายได้กล่าวถึงสถานการณ์พื้นที่ป่าที่ลดลงในโคลอมเบียจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเสพติด และการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสในการดำรงชีพและสร้างรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจและการทำฟาร์มเลี้ยงปศุสัตว์แทน นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายในประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยควรต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและชุมชนได้ เพื่อมิให้หวนกลับไปปลูกพืชเสพติดอีก รวมถึงการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนากับความเติบโตทางเศรษฐกิจ และความห่วงกังวลต่อปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลายประเทศยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านในพื้นที่ชุมชนชายขอบของสังคมที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วย

 

         ภายหลังการอภิปราย GIZ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้สนับสนุนอาหารไทยในงานดังกล่าวด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ