ทิศทางเศรษฐกิจของตุรกีในปี 2561

ทิศทางเศรษฐกิจของตุรกีในปี 2561

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,987 view
 

          นาย Binali Yildirim  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจตุรกี ขยายตัวถึงร้อยละ 7.4  ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่มากที่สุดในโลก และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของตุรกีจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป ในปี 2561  ขณะที่ นาย Cevdet Yilmaz รองประธานพรรค AK Party (พรรครัฐบาล) คาดการณ์ว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจตุรกีจะขยายตัวร้อยละ 5.5  โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจะสร้างงานเพิ่มอีก 1 ล้านตำแหน่ง  

ทั้งนี้  รายงานประจำเดือนมีนาคม 2561 ของธนาคารแห่งชาติของกาตาร์ (Qatar National Bank : QNB)  วิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของตุรกี ว่ามาจากปัจจัยสนับสนุนอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

          1.กองทุนสินเชื่อ (Credit Fund) ในปี 2560 รัฐบาลตุรกีสร้างงาน 1.6 ล้านตำแหน่ง ด้วยการจัดตั้งกองทุนสินเชื่อ (Credit Guarantee Fund) มูลค่า 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และในปี 2561 ได้เพิ่มวงเงินกู้ (Breather Loan Package) เป็น 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิม 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

          2.การส่งออกและการท่องเที่ยว ในปี 2560 การส่งออกของตุรกีขยายตัวร้อยละ 12.9 โดยมียุโรปเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ในขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 2.3 ในปี 2560 ก็มีส่วนส่งเสริมความต้องการนำเข้าสินค้าจากตุรกีด้วย เช่นเดียวกับ ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันในปี 2560 อันเป็นผลมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังตุรกี ขยายตัวร้อยละ 27.9 

          3.นโยบายการคลังรัฐบาลตุรกีมีนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย (Eased Fiscal Policy) โดยเฉพาะการปรับลดอัตราภาษีสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การอัตราการขาดดุลการคลังเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP) 

          อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของตุรกีอาจควบคุมได้ยาก (overheating) หากไม่ใช้มาตรทางการเงินและการคลังแบบหดตัว (tightening) ทั้งนี้ ตามรายงานของ IMF ปัจจุบันเศรษฐกิจของตุรกีขาดความสมดุล เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อสูง เงินลีร่าอ่อนค่า ทุนสำรองระหว่างประเทศลดต่ำลงจนต้องพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ และมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  ในขณะที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและปัจจัยภายนอกประเทศ ดังนั้น IMF จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปรับสมดุลทางการเงินการคลัง และปฏิรูประบอบการเงินการคลัง ให้พร้อมรับมือกับกรณีเงินทุนและความต้องการจากต่างประเทศลดต่ำลง และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน