เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 รัฐบาลมอลโดวาประกาศใช้กฎหมายห้ามเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหาชวนเชื่อในโทรทัศน์มอลโดวา ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของนาย Vlad Plahotniuc ผู้นำพรรค Pro-Western Democratic Party (PDM) โดยมุ่งเป้าที่ช่อง/รายการ ที่นำสื่อที่มีเนื้อหาเชิงให้ข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์ และการทหารจากต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ European Convention on Transfrontier Television มาเผยแพร่ซ้ำ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับภายใน 30 วัน นับแต่มีการประกาศใช้
โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ว่า อาจมีการดำเนินการที่ไม่ชอบธรรมในขั้นตอนการออกกฎหมาย เนื่องจากผู้ลงนามประกาศใช้คือ นาย Adrian Candu ประธานสภา มิใช่นาย Igor Dodon ประธานาธิบดี ซึ่งเคยปฏิเสธการลงนามในกฏหมายดังกล่าวมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวขัดกับสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าประธานสภาสามารถเป็นผู้ลงนามประกาศใช้กฎหมายได้ ทั้งนี้ ปธน. Dodon เป็นผู้นำที่มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยหวังพึ่งรัสเซียในทุกมิติ ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธลงนามประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย (ซึ่งรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่อ European Convention on Transfrontier Television) ได้แสดงความผิดหวังต่อการออกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติต่อรัสเซียอย่างแบ่งแยก และจะยิ่งทำให้มอลโดวาถอยห่างจากการดำเนินการตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยไปสู่ความเป็นเผด็จการ และเรียกร้องให้ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ ภายใต้ EU ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ นอกจากนี้ สื่อของรัสเซียได้ตำหนิการออกกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นการปูทางไปสู่การห้ามการเผยแพร่สื่อทั้งหมดของรัสเซียในมอลโดวาในท้ายที่สุดด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลผสมของมอลโดวากำลังเผชิญกับปัญหาการขาดเสถียรภาพและเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เนื่องจากบุคคลระดับผู้นำในรัฐบาลมาจากคนละพรรคการเมืองและมีแนวทางการบริหารประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือ นาย Dodon ประธานาธิบดี มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย ในขณะที่นาย Pavel Filip นรม. ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับ EU และสหรัฐฯ