สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงเบอร์ลิน นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเดินทางเยือนไทยเพื่อขยายหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไทย-เยอรมนี

สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงเบอร์ลิน นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเดินทางเยือนไทยเพื่อขยายหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลไทย-เยอรมนี

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,438 view
 

        สถานเอกอัครราขทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน 2 คน ได้แก่ Dr. Christina Schmidt-Holtmann ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จากกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของเยอรมนี และนาย Lutz Haase ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร FTWK ซึ่งเป็น start-up ด้านบริการสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ เดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 18 – 24 กันยายน 2560 เพื่อขยายหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยกับเยอรมนี และร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Green and Innovative Economy ซึ่งในปีนี้ จัดในหัวข้อ Digital Agenda ของเยอรมนีกับโอกาสทางธุรกิจของไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร

        ระหว่างการเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานให้ผู้เชี่ยงชาญทั้งสองได้มีโอกาสหารือข้อราชการกับภาครัฐและภาคเอกชนไทย ได้แก่ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และ ดร. ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันได้รับทราบถึงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรม 4.0 และ start-ups ของไทย ตลอดจนความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางที่ภาครัฐและเอกชนทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความร่วมมือในด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 ได้ และนำเสนอประสบการณ์ของเยอรมนีที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้คณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย

        ในการนี้ เมื่อวันที่ 22 – 23 กันยายน 2560 สถานเอกอัครราขทูตฯ ยังได้ประสานให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนเข้าร่วมเป็นวิทยากรในงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ซึ่งเป็นงานมหกรรมการแสดงนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของไทยอีกด้วย โดยวิทยากรทั้งสองได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการพัฒนาธุรกิจด้านดิจิทัลของเยอรมนี โดยเฉพาะธุรกิจ tech start-up และ start-up และมาตรการสนับสนุนที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ โดยได้เสนอแนะให้ start-ups ของไทยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน และปรับตัวให้รวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการหารูปแบบในการประกอบการ (business model) ที่ทันสมัยอยู่เสมอ และได้แสดงความชื่นชมต่อมาตรการการสนับสนุนอย่างเป็นระบบของภาครัฐ และเสนอแนะให้ภาครัฐมุ่งทุ่มเทงบประมาณด้านการสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล ทั้งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ วิศวกรคอมพิวเตอร์ และมุ่งต่อยอดความเข้มแข็งที่ผู้ประกอบการในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลมี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ซึ่งมีวงการผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และเมืองที่มีสถาบันวิจัยด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เช่น สงขลา-หาดใหญ่ ขอนแก่น ตลอดจนให้ความรู้แก่คนไทยซึ่งมีความตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว ให้มีความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ในการหารูปแบบในการประกอบธุรกิจแบบใหม่

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ