17 ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้สภาพยุโรปทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products Regulation (EUDR)

17 ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องให้สภาพยุโรปทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products Regulation (EUDR)

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.ย. 2566

| 1,593 view

         กฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่ามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้นำเข้า/ผู้ผลิตของอียูในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง และสินค้าปลายน้ำบางรายการต้องยื่น Due Diligence statement รับรองว่า สินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free)

         โดยผู้ส่งออกสินค้าข้างต้นไปยัง EU จะต้องส่งพิกัดภูมิศาสตร์ และข้อมูลหลักฐานประเภทที่ดินให้แก่บริษัทนำเข้าของอียู เพื่อบริษัทดังกล่าวใช้ประกอบการจัดทำรายงานเพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะเพิ่มขั้นตอนและค่าใช้จ่ายอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยจำนวนกว่า 1.7 ล้านครัวเรือน ตลอดจนมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม 7 ประเภทไปอียู คิดเป็น 6.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564 โดยเฉพาะยางพาราซึ่งคิดเป็นมูลค่าส่งออกยางพารา 6 หมื่นล้านบาท

         สาระสำคัญของหนังสือที่ประเทศกำลังพัฒนา 17 ประเทศ (อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย โคลัมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กชิโก ไนจีเรีย ปารากวัย เปรู ไทย กานา โกตติวัวร์ และฮอนดูรัส) ส่งถึงผู้นำสูงสุดของ 4 สถาบันของสหภาพยุโรป (1) ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (2) ประธานคณะมนตรียุโรป (3) ประธานสภายุโรป (4) ประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งโดยสเปน มีดังนี้

  1. แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกฎหมาย EUDR ที่มิได้คำนึงถึงกฎหมาย อุปสรรคและ ความท้าทาย สภาพของท้องถิ่น ความสามารถในการแข่งขัน และความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ผลิตซึ่งพยายามป้องกันและกำจัดการตัดไม้ทำลายป่าอยู่แล้ว โดยอียูจะเป็นผู้พิจารณาแต่ฝ่ายเดียวเพื่อกำหนดว่าประเทศใดมีความเสี่ยงในการตัดไม้ทำลายป่า (unilateral benchmarking) เพื่อเลือกปฏิบัติต่อแต่ละประเทศอย่างที่อาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO
  2. กฎหมายดังกล่าวจะบังคับให้ผู้นำเข้าอียูเริ่มยื่นรายงาน due diligence เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 4 ของปี ค.ศ. 2024 ซึ่งหมายความว่า จะมีเวลาเพียง 16 เดือน นับจากนี้ที่จะเตรียมตัว ทั้งที่อียูยังไม่ได้ประกาศแนวปฏิบัติ (guidelines) ที่ชัดเจนว่าทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างไร ในระหว่างที่อียูกำลังยกร่างแนวปฏิบัตินี้อียูจึงควรหารือเพื่อรับฟังประเทศผู้ผลิต เพื่อให้แนวปฏิบัติที่จะออกมาพิจารณาลดผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ข้อกำหนดมีความยืดหยุ่นทั้งในเรื่องการแสดง due diligence การให้ข้อมูลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของการเพาะปลูก การตรวจสอบย้อนกลับ การออกใบรับรองต่าง ๆ ขั้นตอนทางศุลกากร ซึ่งเป็นอุปสรรคการค้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
  1. หากอียูไม่หารือกับประเทศกำลังพัฒนาและให้ความยืดหยุ่นข้างต้น กฎระเบียบและแนวทางของอียูจะเพิ่มขั้นตอนและภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำเข้า/ผู้ผลิตอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ากฎหมายนี้จะสามารถลดอัตราการตัดไม้ทำลายป่าได้จริง แต่ผลที่จะเกิดอย่างแน่นอนคือผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนา ให้ต้องรับภาระและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดอียูได้อย่างที่เคยเป็นมา ถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความยากจนและเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
  1. การถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศดังกล่าว มิได้มีสาเหตุจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่าตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่เกิดจากการไม่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นภาระเกินความจำเป็น ประเทศผู้ร่วมลงนามจึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ของสินค้าทั้ง 7 ประเภท โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของประเทศกำลังพัฒนา
  1. ประเทศกำลังพัฒนาก็มีเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและยึดมั่นในพันธกรณีตลอดจนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศเช่นเดียวกับอียู แต่อียูก็ต้องดำเนินการในเรื่องนี้โดยไม่ละเลยวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และหลักการความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง (principle of common but differentiated responsibilities) จึงขอเรียกร้องให้อียูร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจังเพื่อร่วมกันแก้ไขผลกระทบของ EUDR และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

 

*****

ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ทั้งนี้ สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://www.matichon.co.th/foreign/news_4173622

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ