สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ๑๖ ประเทศ บรรลุข้อตกลง The Multiparty Interim Appeal Arbitration Arrangement เพื่อใช้แทนองค์กรอุทธรณ์ (WTO Appellate Body) เป็นการชั่วคราว

สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ๑๖ ประเทศ บรรลุข้อตกลง The Multiparty Interim Appeal Arbitration Arrangement เพื่อใช้แทนองค์กรอุทธรณ์ (WTO Appellate Body) เป็นการชั่วคราว

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,557 view

สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO)
๑๖ ประเทศ บรรลุข้อตกลง The Multiparty Interim Appeal Arbitration Arrangement
เพื่อใช้แทนองค์กรอุทธรณ์ (WTO Appellate Body) เป็นการชั่วคราว

          เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๓ สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก WTO ๑๖ ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐคอสตาริกา สาธารณรัฐกัวเตมาลา สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐเม็กซิโก นิวซีแลนด์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐปานามา สาธารณรัฐสิงคโปร์ สมาพันธรัฐสวิส และสาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย ได้บรรลุข้อตกลง The Multiparty Interim Appeal Arbitration Arrangement เพื่อใช้แทนองค์กรอุทธรณ์ (WTO Appellate Body) เป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาขัดขวางการแต่งตั้งผู้พิพากษา WTO Appellate Body ทำให้กลไกดังกล่าวต้องหยุดชะงัก สหภาพยุโรปและประเทศภาคีข้อตกลงฯ จึงได้จัดตั้งกลไกอุทธรณ์ชั่วคราวนี้ขึ้น ภายใต้ข้อ ๒๕ ของ WTO Dispute Settlement Understanding เพื่อรักษากลไกการระงับข้อพิพาท ๒ ระดับ และใช้เป็นการชั่วคราวระหว่างที่ภาคี WTO ดำเนินการเจรจาเพื่อให้กลไก WTO Appellate Body กลับมาใช้ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลงฯ จะมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไว้จำนวน ๑๐ คน และเมื่อมีคดีอุทธรณ์เกิดขึ้นจะเลือกใช้อนุญาโตตุลาการ ๓ คน จากจำนวน ๑๐ คน ที่ได้มีการแต่งตั้งไว้ในเบื้องต้น ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในช่วง ๒-๓ สัปดาห์ข้างหน้า ภายหลังจากที่ประเทศภาคีได้ดําเนินกระบวนการภายในของตนเสร็จสิ้นแล้ว

         นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้เข้าร่วมกับประเทศต่าง ๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ ๑๖ ประเทศภาคีข้อตกลงฯ) ภายใต้ชื่อ “Ottawa Group” เพื่อจัดทําข้อเสนอการปฏิรูป WTO ที่ครอบคลุม ๓ มิติ ได้แก่ (๑) การปรับปรุงกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน (๒) การเสริมสร้างบทบาท “Monitoring” ของ WTO และ (๓) แก้ไขปัญหาของกลไกระงับข้อพิพาท อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปเห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในประเด็นที่ต้องการให้มีการแก้ไขสถานะของ “ประเทศกําลังพัฒนา” เพื่อลดจํานวนประเทศที่ควรได้รับ “สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี” หรือ Special and Differential Treatment (S&D) โดยข้อเสนอปฏิรูปนี้มีเป้าหมาย คือ จีนเป็นหลัก แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากไทยได้ประโยชน์จากสถานะ “ประเทศกําลังพัฒนา” เช่นกัน

         ปัจจุบัน สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย 2014 EU Enforcement Regulation ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการฝ่ายเดียวของสหภาพยุโรป โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สหภาพยุโรปสามารถออกมาตรการตอบโต้ หรือมาตรการลงโทษทางการค้าเพิ่มขึ้นได้ หากประเทศคู่ค้าออกมาตรการที่ผิดกฎหมายและสหภาพยุโรปไม่สามารถฟ้องคดีภายใต้กรอบ WTO ได้ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสต้องการให้เพิ่มมาตรการตอบโต้สำหรับข้อพิพาททางภาคบริการและทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ปัจจุบัน การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่สภายุโรป ก่อนที่จะมีการหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรป และคณะมนตรียุโรปต่อไป

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีท่าทีสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO แต่ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการฝ่ายเดียวเพิ่มขึ้น และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของกฎระเบียบและมาตรฐานของตน ผ่านการจัดตั้ง Chief Trade Enforcement Officer รวมทั้งนโยบายการเชื่อมโยงประเด็นการค้ากับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น) ซึ่งเป็นบริบทที่จะส่งผลต่อการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ที่ไทยจะต้องติดตามและเตรียมความพร้อมต่อไป

**********************************