มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้าซื้อธุรกิจสําคัญของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของสหภาพยุโรป

มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้าซื้อธุรกิจสําคัญของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,001 view

มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้าซื้อธุรกิจสําคัญของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะด้านสุขภาพ
ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของสหภาพยุโรป

          วิกฤตทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ทำให้ล่าสุดนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีความห่วงกังวลว่า วิกฤตดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทยุโรปหลายแห่ง ที่อาจจําเป็นต้องขายกิจการให้กับต่างชาติ ดังนั้น สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจึงจําเป็นต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจที่มีความสําคัญด้านความมั่นคง สาธารณสุข และความสงบเรียบร้อย เช่น ด้านสุขภาพ (ทั้งด้านการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และการวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน) ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน ถูกขายให้กับต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปได้ออกแนวปฏิบัติ EU Guidance concerning foreign direct investment and free movement of capital from third countries, and the protection of Europe's strategic assets โดยมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้

          - ประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้จัดตั้งกลไกคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ กลไกที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้ดําเนินการจัดตั้งกลไกคัดกรองการลงทุนเต็มรูปแบบโดยเร็ว

          - กฎระเบียบในการคัดกรองการลงทุนของสหภาพยุโรปที่ครอบคลุมทุกสาขาของเศรษฐกิจและไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องมูลค่าขั้นต่ำของบริษัท เนื่องจากบริษัท Start-ups ขนาดเล็กอาจไม่มีมูลค่าสูง แต่มีความสําคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น การวิจัย หรือเทคโนโลยี

          - การคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่จําเป็นว่าจะต้องห้ามการลงทุนจากต่างชาติเสมอไป แต่อาจใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบอื่น เช่น การตั้งเงื่อนไขให้มีการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สําหรับใช้ภายในประเทศ นอกจากนี้ นอกเหนือจากกลไกการคัดกรองการลงทุนแล้ว ประเทศสมาชิกอาจใช้กลไกอื่นร่วมด้วยได้ เช่น มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) หรือการให้รัฐบาลถือหุ้นทองคํา (“golden shares”) ซึ่งจะให้อํานาจในการ veto กับรัฐบาล

          - สําหรับการซื้อหุ้น หากมีการถือหุ้นในปริมาณที่มากพอจนทําให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิพิเศษบางประการ รัฐบาลอาจจําเป็นต้องพิจารณาว่า จะมีนัยต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยหรือไม่

          - เหตุผลที่อาจใช้ในการจํากัดการลงทุนจากต่างชาติตามกฎหมายสหภาพยุโรป อาทิ สาธารณสุข การปกป้องผู้บริโภค การรักษาไว้ซึ่งสมดุลทางการเงินของระบบประกันสังคม และเพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านสังคมอื่น ๆ

          อย่างไรก็ดี ธนาคาร European Investment Bank ได้ให้เงินกู้จํานวน 80 ล้านยูโร กับบริษัทสัญชาติเยอรมัน Curevac เพื่อเร่งการวิจัยผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการรายงานข่าวว่านักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาได้พยายามจะเข้าซื้อบริษัทดังกล่าว

******************************