ผู้แทนกรมยุโรป บรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปกับความมั่นคงโลก” ที่วิทยาลัยการทัพบก วันที่ 10 มีนาคม 2563

ผู้แทนกรมยุโรป บรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปกับความมั่นคงโลก” ที่วิทยาลัยการทัพบก วันที่ 10 มีนาคม 2563

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,235 view

ผู้แทนกรมยุโรป บรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปกับความมั่นคงโลก”
ที่วิทยาลัยการทัพบก วันที่ 10 มีนาคม 2563

          เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 นางสาวพรพิมล สุคันธวณิช ผู้อำนวยการกองสหภาพยุโรป และนายภาษิต จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการกองยุโรปตะวันออก กรมยุโรป ได้บรรยายเรื่อง “บทบาทและความสำคัญของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปกับความมั่นคงโลก” ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 65 จำนวน 156 คน

          ผู้อำนวยการกองสหภาพยุโรป ได้อธิบายถึงความสำคัญของ EU ในฐานะผู้เล่นระดับโลก ด้านการค้า การลงทุนด้านการเมืองและการทหาร ขณะที่ไทยมอง EU ว่า สามารถมีอิทธิพลที่จะกำหนดทิศทางการเมือง ความมั่นคงของโลก และเป็น trend setter ด้านค่านิยมและมาตรฐานสากล ที่สามารถสร้างแรงกดดันให้ไทยขับเคลื่อนนโยบายภายในไปในทิศทางที่ EU ต้องการ ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งของนาง Federica Mogherini ซึ่งเป็นผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (HR/VP) ในช่วงปี ค.ศ. 2014-2019 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของ EU โดยมีการออก Global Strategy ด้านการต่างประเทศและความมั่นคง เมื่อปี ค.ศ. 2016 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของ EU ที่จะให้เกิด “European Integration” มากขึ้น และความสามารถที่ EU จะตัดสินใจด้านการต่างประเทศด้วยตนเอง (Strategic Autonomy) รวมทั้งความต้องการที่จะพึ่งพาตนเองด้านการทหารให้มากขึ้น ซึ่ง EU ไม่เคยทำได้เลยในประวัติศาสตร์ เนื่องจากที่ผ่านมา ยุโรปมีความขัดแย้ง สงคราม และความแตกต่างทางความคิด เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง นอกจากนี้ บริบทที่สำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนด Global Strategy ของ EU ที่สำคัญ น่าจะรวมถึงสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอก เช่น การทำ Referendum เรื่อง Brexit ปัญหาวิกฤติเรื่องผู้อพยพ Rise of China ความไม่แน่นอนของพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ ยูเครน อิหร่าน และคาบสมุทรเกาหลี นอกจากนี้ EU เองก็ได้ปรับมุมมองใหม่ โดยเห็นว่า EU ไม่จำเป็นต้องปกป้องโลกในทุกเรื่องแต่สามารถหยิบยกบางเรื่องที่ EU สามารถมีบทบาทนำและสร้างความแตกต่างได้ และเห็นว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกต้องการความร่วมมือกัน หรือ Collective Action จากในยุโรปเอง เพื่อผลักดันให้เกิดความรุ่งเรืองอย่างต่อเนื่องของยุโรป

         สาระสำคัญของ Global Strategy เน้นเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการป้องกันของประเทศสมาชิกในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความมั่นคงทางพลังงาน โดยที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การปกป้องข้อมูลบุคคล เรื่องการจัดทำแผนการพัฒนา 5G รวมถึงให้ความสำคัญกับนโยบายกับประเทศเพื่อนบ้านและผู้อพยพและการกำหนดความสัมพันธ์กับกล่มประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง ASEAN และการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีนิยม รวมถึงการส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน

         ผู้อำนวยการกองยุโรปตะวันออกได้บรรยายถึงนโยบายต่างประเทศของรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงเป็นหลัก และให้น้ำหนักกับเอเชียมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งจากความบาดหมางกับโลกตะวันตก ดังกรณีตัวอย่างการยกระดับสถานะของรัสเซียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน ในขณะเดียวกัน การเมืองภายในรัสเซียก็มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยล่าสุดประธานาธิบดีปูตินได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

          จากนั้น ได้แสดงความคิดเห็นว่า แม้ภัยคุกคามดั้งเดิม (traditional threats) จะยังคงดำรงอยู่โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับบทบาทของยุโรป แต่ยุโรปให้ความสำคัญมากขึ้นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (non-traditional threats) อาทิ โรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสะท้อนให้เห็นจากการที่เยอรมนีได้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการทหารและมุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณให้กับการใช้พลังงานทดแทนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

          สำหรับยุโรป ตัวอย่างภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้แก่ (1) การก่อการร้าย/กลุ่มสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ซึ่งเป็นความท้าทายที่ซับซ้อน กล่าวคือ การที่พลเมืองของยุโรปเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่ม ISIS ในซีเรีย/อิรัก (Foreign Terrorist Fighters – FTF) การบริหารจัดการกับ FTFs และครอบครัวที่เดินทางกลับประเทศ (Returnees) การก่อการร้ายเพียงลำพัง (Lone Wolf) และกลุ่มชาตินิยมขวาจัด (Neo-Nazi / White Supremacist) (2) ความมั่นคงด้านพลังงาน ยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงถึงร้อยละ 40  แต่ก็มีความสัมพันธ์ไม่ปกติกับรัสเซีย จึงพยายามลดการพึ่งพิงรัสเซีย อย่างไรก็ดี ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจากแนวนโยบาย/การดำเนินการที่แตกต่างกันของยุโรป (3) ความมั่นคงทางไซเบอร์ จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อ 5G นำไปสู่การประยุกต์ใช้กับกิจกรรมที่หลากหลาย (รถยนต์ไร้คนขับ ฯลฯ) ซึ่งย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยุโรปมีแนวนโยบายที่แตกต่างกัน ในกรณีของ Huawei (4) เส้นทางขนส่งทางทะเลอาร์คติกตอนเหนือ (Northern Sea Route – NSR) ประเมินว่า จะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าจากยุโรปไปจีนเร็วขึ้นถึงร้อยละ 40 ซึ่งหากในอนาคต NSR กลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก เพราะการเดินเรือผ่านสะดวกมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิสภาพอากาศที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณอาร์คติกบางลงก็จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะรัสเซียจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้ จีนได้แผ่ขยายบทบาทและอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคยุโรปเช่นกัน ไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ จีนมีกลไกความร่วมมือด้านการพัฒนาที่เรียกว่า “China and Central and Eastern European countries” (CEECs) หรือ 17+1

          ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้แสดงความสนใจสอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ กับผู้บรรยาย สรุปสาระ ดังนี้ (1) โดยที่ชั้นนี้ยังอยู่ระหว่างช่วง transition period ของ Brexit  จึงทำให้ข้อสรุปเกี่ยวกับระดับการบูรณาการด้านความมั่นคงระหว่างสหราชอาณาจักร กับ EU ภายหลัง Hard Brexit ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ เนื่องจากท่าทีที่ต่างกันของแต่ละฝ่าย โดย EU ยังต้องการคงความร่วมมือไว้ในระดับเดิมแต่ UK ต้องการเป็นเอกเทศมากขึ้นและคงไว้เพียงสถานะที่เป็นมิตรกับ EU เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องเจรจากันอีก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายสินค้าบริเวณพรมแดนไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์ การทำประมงในช่องแคบอังกฤษ และสถานะพลเมือง (2) การที่สหรัฐฯ เรียกร้อง ให้ประเทศยุโรปเพิ่มงบประมาณสนับสนุน NATO น่าจะเกี่ยวโยงกับนโยบาย America First ของสหรัฐฯ (3) ปรากฏการณ์กลุ่มชาตินิยมขวาจัด/การเข้าร่วมรบกับกลุ่ม ISIS ของพลเมืองยุโรป/การก่อการร้ายเพียงลำพัง อาจวิเคราะห์มูลเหตุได้ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคม กล่าวคือ ระดับปัจเจกบุคคล อาทิ การขาดโอกาสทางอาชีพและการไม่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐต่าง ๆ อาจทำให้บุคคลเกิดความแปลกแยก (alienation) จนต้องหันไปพึ่งอุดมการณ์/แนวคิด/        ความเชื่อสุดโต่ง และระดับสังคมที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของสังคมที่จะทำให้เกิดการยอมรับค่านิยม/อุดมคติร่วมกัน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงจะใช้การปิดกั้นความแตกต่างหรือใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาไม่ได้ (4) นโยบายผู้อพยพ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งประเทศสมาชิก EU ยังคงหาข้อยุติร่วมกันได้ยากและสถานการณ์แย่ลง เนื่องจากหลายประเทศมีการต่อต้านอิสลาม/มุสลิมเพิ่มขึ้นและพรรคการเมืองของกลุ่มแนวคิดชาตินิยมได้รับเลือกตั้งมากขึ้นในสภายุโรป และ (5) การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการเดินเรือผ่านทะเลอาร์คติกย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ด้านความมั่นคงของโลก ดังเช่นกรณีคลองสุเอซที่ทำให้อียิปต์กลายเป็นพื้นที่ที่มหาอำนาจต้องการเข้าไปควบคุมในฐานะเส้นทางขนส่งทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า หากมีโครงการขุดคลองไทยจริงจะก่อให้เกิดประเด็นความมั่นคงที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

**********************

กองสหภาพยุโรป

กรมยุโรป

10 มีนาคม 2563

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ