รายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “FTAs from A to Z”

รายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “FTAs from A to Z”

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 777 view

รายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “FTAs from  A to Z”

          เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 บริษัทที่ปรึกษา Euraffex | European Affairs Expertise ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “FTAs from  A to Z” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) กับสหภาพยุโรปในทุกมิติให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้บรรยายคือ นาย César Guerra Guerrero, Director for trade Policy en Euraffex | European Affairs Expertise ซึ่งในอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของเม็กซิโกและเป็นหัวหน้าทีมเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ระหว่างประเทศเม็กซิโกกับสหภาพยุโรป

          นาย Guerrero กล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนให้ความสำคัญกับประเด็น e-commerce ในการเจรจาภายใต้กรอบองค์การ    การค้าโลก (World Trade Organization – WTO) และหากการเจรจาในเรื่องนี้มีความคืบหน้าก็อาจทำให้ทั้งสองประเทศกลับมาให้ความร่วมมือกับ WTO มากขึ้นและอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของ WTO ซึ่งรวมถึงการชะงักของการดำเนินงานขององค์กรอุทธรณ์ (WTO Appellate Body) ทั้งนี้ การเจรจา WTO รอบใหม่กำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ประเทศคาซัคสถาน

          ด้วยการเจรจาที่ยืดเยื้อและยาวนานภายใต้กรอบ WTO เป็นสาเหตุให้ประเทศสมาชิกหันไปเจรจาการค้าในระดับภูมิภาคและทวิภาคีแทนเพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจากสถิติของ WTO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2561 ประเทศสมาชิกได้มีการทำ FTA ระหว่างกันราว 300 ฉบับ      นอกจากนั้น ในปัจจุบันกฎเกณฑ์ภายใต้กรอบ WTO ยังไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญทางการค้าใหม่ ๆ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การค้าและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานแรงงาน การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น

          นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเห็นว่า การปฏิรูป WTO มีความสำคัญ ระบบการพหุภาคีที่เสรีและเป็นธรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโต โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพแวดล้อมการกีดกันทางการค้าในปัจจุบัน เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ WTO ดำเนินต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก พร้อมด้วยการส่งเสริมความโปร่งใสของ WTO ผ่านการปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าของ WTO ให้สอดรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) จะไม่สามารถตัดสินข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศได้อีกต่อไป เนื่องจากมีจำนวนผู้ตัดสินไม่ครบองค์คณะ ทั้งนี้ องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ถือเป็นกลไกระงับข้อพิพาทสูงสุดของ WTO ซึ่งต้องมีองค์คณะอย่างน้อย 3 คน จึงจะสามารถพิจารณาคดีได้ ทว่าการดำรงตำแหน่งของผู้ตัดสิน 2 คน ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่               10 ธันวาคม 2562 และ สหรัฐฯ คัดค้านการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่)

          ความตกลง FTA สหภาพยุโรป-สิงคโปร์ ถือเป็นความตกลงการค้าและการลงทุนฉบับแรกระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่แบ่งออกเป็น 2 ฉบับ ได้แก่ ด้านการค้า (FTA) และการคุ้มครองการลงทุน (IPA) และถือเป็นความตกลงสมัยใหม่ที่มีรายละเอียดครอบคลุม (Comprehensive) ทั้งมาตรการด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี และประเด็นอื่น ๆ เช่น การแข่งขันทางการค้า การบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความร่วมมือด้านต่าง ๆ และประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (รวมมาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม) มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งสร้างสภาวะที่เหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสสำหรับกิจการและธุรกิจในสหภาพยุโรปเพื่อการขยายการลงทุนและการค้าไปสู่สิงคโปร์ โดยคาดว่า FTA สหภาพยุโรป-สิงคโปร์ และ FTA    สหภาพยุโรป-เวียดนาม จะเป็นต้นแบบของความตกลงที่สหภาพยุโรปใช้เจรจากับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน รวมถึงไทย ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม (agricultural and industrial profiles) มีความสำคัญต่อการเจรจาการค้า เช่น สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีตลาดเปิดกว้างโดยเก็บภาษีศุลกากรระดับต่ำในสินค้าเกือบทุกประเภท (ร้อยละ 99) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร ประมง และอุตสาหกรรม นาย Guerrero ได้ชี้ให้เห็นถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรป-เม็กซิโก/สหภาพยุโรป-เกาหลีใต้ ที่ใช้เวลายาวนานในการบรรลุข้อตกลงเนื่องจากกลุ่มสินค้าอ่อนไหว (sensitive products) อาทิ เหล้า โดยเฉพาะ tequila และ Gin สำหรับประเทศเม็กซิโก เป็นต้น แม้ว่าสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่นต่างเป็นชาติที่มีสินค้าเกษตรที่อ่อนไหว  ซึ่งยากต่อการเจรจา FTA แต่ก็สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากด้วยความพร้อมทางการเมือง การสำรวจความต้องการ/การปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการภายในเกี่ยวกับแผนการรับมือกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากการลดภาษี และการเปิดเสรี อาทิ การที่รัฐรองรับด้วยแผนการ transition fund เป็นต้น

          ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ FTA ระหว่างคู่เจรจาคือผลได้-เสีย เช่น (1) กรณีของจีนในประเด็นการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและการเข้าถึงตลาดภายในประเทศ (2) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ที่ต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนา เวียดนามขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล ซึ่งแต่เดิมสมาชิก  ใน TPP จะต้องชดเชยระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรหากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณาจดสิทธิบัตรดำเนินการล่าช้า รวมถึงการแข่งขันทางการค้าระหว่างยาต้นแบบและยาสามัญ (3) ประเด็นความตกลงคุ้มครองการลงทุน (Investment Protection Agreement - IPA) สหภาพยุโรป-เมียนมา ที่หวังจะยกระดับการคุ้มครอง  การลงทุน (4) การผูกขาดสินค้ากลุ่มพลังงานและวัตถุดิบ (energy and raw materials) ในรัสเซีย 

          นอกจากนี้ นาย Guerrero ยังได้ให้ข้อมูลกับผู้สัมมนาในเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติข้อ 24 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade – GATT) ฉบับปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537) ซึ่งระบุไว้ว่า ประเทศสมาชิก WTO สามารถจัดทำความตกลง FTA ได้ตราบเท่าที่ข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ครอบคลุมการค้าเกือบทั้งหมดระหว่างคู่ภาคี FTA (substantially all the trade) หรือประมาณร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีการค้าระหว่างกันและไม่เพิ่มอุปสรรคทางการค้ากับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของข้อตกลงนั้น ๆ โดยการเจรจา FTA ส่วนมากจะครอบคลุมประเด็นสำคัญ ดังนี้

(1)การเปิดเสรีทางการค้าสินค้า อาทิ การลดกำแพงภาษี โควตาภาษี (Tariff Rate Quota) หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ    สิทธิ MFN (Most Favored Nation) และการจัดการกับสินค้ากลุ่มอ่อนไหว เป็นต้น การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน

(2)มาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Measures) เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Measures) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade) มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade-Related Environmental Measures) มาตรฐานแรงงงาน (Trade and Labour Standard) เงื่อนไขการลงทุนและนโยบายการแข่งขัน

(3)มาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedies) เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (safeguard measure) เป็นต้น

(4)กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้กำหนดสัญชาติของสินค้าเนื่องจากปัจจุบันสินค้าอาจไม่ได้ผลิตภายในประเทศเดียวเท่านั้น แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากหลายประเทศเพื่อลดต้นทุนทางการผลิต กฎดังกล่าวจึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้จำแนกแหล่งกำเนิดสินค้าและกำหนดภาษี ซึ่งจำแนกได้ 2 ประเภทคือ (1) กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained) และ (2) กฎการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) ยกตัวอย่างเช่น ความตกลงระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดา

*********************************************

จัดทำโดย นายอนัส อาลีมะสะ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

24 มกราคม 2563