นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และภาพรวมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และภาพรวมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,948 view

นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และภาพรวมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) และภาพรวมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป จากการประชุมสภากรรมการ (Governing Council) ECB เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 สามารถประมูลข้อมูลจาก ECB ได้ดังนี้

นโยบายการเงินของ ECB

ECB ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) จากร้อยละ -0.40 เป็นร้อยละ -0.50 แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร (Main Refinancing Rate) ที่อัตราร้อยละ 0.00 และอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม (Marginal lending facility rate) ที่อัตราร้อยละ 0.25 ซึ่ง ECB คาดการณ์ว่า จะยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเช่นนี้หรืออาจต่ำลงกว่านี้ในอนาคตไปจนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงขยายตัวต่อไปตามเป้าหมายระยะกลางที่ระดับร้อยละ 2

การเริ่มโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchase Program – APP) ครั้งใหม่ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) จำนวน 20,000 ล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 โดย ECB คาดการณ์ว่า จะดำเนินมาตรการดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการประกาศขึ้นนโยบายอัตราดอกเบี้ยหลัก ECB จะมีการลงทุนใหม่จากการได้รับการชำระเงินต้นจากหลักทรัพย์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินต่อไปอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะดำเนินมาตรการดังกล่าวไปจนกว่าจะมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก หรือตราบเท่าที่มีความจำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องที่ดีและระดับเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เพียงพอ

การกำหนดเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการรีไฟแนนซ์ระยะยาวที่กำหนดเป้าหมายรายไตรมาส ชุดที่ 3 (quarterly targeted longer-term refinancing operations – TLTRO III) เพื่อรักษาเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สร้างความมั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินจะมีความราบรื่น และสนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์ TLTRO ครั้งก่อน ๆ จะอยู่ที่ระดับของอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ใช้ในการรีไฟแนนซ์ของ Eurosystem ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ใน TLTRO III จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ Eurosystem หรืออยู่ในระดับต่ำเทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ Deposit Facility Rate และขยายระยะเวลาการครบกำหนดไถ่ถอนจาก 2 ปี เป็น 3 ปี

นอกจากนี้ ECB ได้นำเสนอระบบ two-tier system เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามนโยบายการเงินต่าง ๆ ของ ECB ได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้ (1) เงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ส่วนที่เกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำส่วนหนึ่ง และไม่ได้ฝากไว้กับ ECB จะได้รับการยกเว้นจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ โดยจะมีผลตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2562 และจะได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี และ (2) เงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้รับการยกเว้นการถือครองสภาพคล่องส่วนเกินจะได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 0 ต่อปี หรือ อัตรา Deposit Facility Rate โดยจะเลือกใช้อัตราที่ต่ำกว่า

ภาพรวมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU)

Economic Key Indicators

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริง (Real GDP): ไตรมาส 2 ปี ค.ศ. 2019 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 0.2 ลดลงมาจากไตรมาส 1 ปี ค.ศ. 2019 ที่เติบโตร้อยละ 0.4 และมี  แนวโน้มการขยายตัวระดับปานกลางในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยมีการคาดการณ์ Real GDP รายปี ดังนี้ (1) ปี ค.ศ. 2019 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.1 (2) ปี ค.ศ. 2020 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.2 และ (3) ปี ค.ศ. 2021 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.4

2. อัตราเงินเฟ้อ: เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2019 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เท่ากับเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2019 โดยมีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อรายปี ดังนี้ (1) ปี ค.ศ. 2019 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 (2) ปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ (3) ปี ค.ศ. 2021 อยู่ที่ร้อยละ 1.5

ECB ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลายเป็นระยะเวลานาน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินทั้งหมดตามความเหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวไปสู่เป้าหมายอย่างยั่งยืน ดังนั้น การประกาศใช้มาตรการทางการเงินต่าง ๆ ก็เพื่อตอบสนองต่อการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของเขตยูโรยังคงอยู่บนความเสี่ยง ในขณะเดียวกันการเติบโตของการจ้างงานที่แข็งแกร่งและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตยูโร ดังนั้น ECB จึงมีความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่สำคัญเพื่อให้มั่นใจว่า สภาพคล่องทางการเงินยังคงอยู่ในระดับที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขตยูโร และการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อให้ไปสู่เป้าหมายในระยะปานกลางได้

การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตยูโร สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนในระดับโลกมาเป็นเวลานาน ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิตในเขตยูโร อย่างไรก็ดี ภาคบริการและภาคการก่อสร้างยังคงมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขตยูโรจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยทางการเงินที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและค่าแรง รวมถึงการปรับใช้นโยบายการคลังเพิ่มมากขึ้น และจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ ECB ยังเน้นย้ำว่า ประเทศในเขตยูโรจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเชิงโครงสร้าง (structural policies) อย่างมีนัยสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเขตยูโร เพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้าง และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลาแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่มีการก่อหนี้ภาครัฐสูงและประเทศสมาชิกควรจะใช้ความพยายาม    ในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตผ่านการดำเนินนโยบายการคลังสาธารณะ

***********************************