การเจรจา FTA ของสหภาพยุโรป (EU): บทเรียนเตรียมพร้อมบูรณาการฝ่ายไทย

การเจรจา FTA ของสหภาพยุโรป (EU): บทเรียนเตรียมพร้อมบูรณาการฝ่ายไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,949 view

การเจรจา FTA ของสหภาพยุโรป (EU): บทเรียนเตรียมพร้อมบูรณาการฝ่ายไทย

ในอดีตนโยบายการค้าของอียูไม่ได้เน้นการทำความตกลงการค้าเสรี FTA รายประเทศมากนัก แต่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเจรจาการค้าในกรอบของ WTO เพราะอียูมองว่าการเจรจาในกรอบพหุภาคีระหว่าง 164 ประเทศสมาชิกนั้นช่วยเพิ่มความสมดุลย์ของผลประโยชน์ในการเจรจาและมีการวางกฏเกณฑ์และกติกาทางการค้าอย่างชัดเจน (Rule-based system)

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา การเจรจาระดับพหุภาคี WTO รอบโดฮาซึ่งเปิดรอบมาตั้งแต่ปี 2544 ประสบปัญหาไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจาก WTO ยึดหลักฉันทามติที่สมาชิกทุกประเทศต้องเห็นชอบร่วมกันโดยประเทศคู่ค้าสำคัญของอียูไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบเอเซียแปซิฟิก ต่างหันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับภูมิภาค (Regionalism) และทวิภาคี (Bilateralism) เนื่องจากหาข้อสรุปได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ประกอบกับหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้มาตรการฝ่ายเดียวกีดกันทางการค้า(TradeProtectionism) มากขึ้นทำให้อียูไม่อาจอยู่นิ่งเฉยจากการจากการสูญเสียตลาดแก่ประเทศคู่แข่งเป็นอย่างมาก กอปรกับภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเมื่อปี 2551 ที่สั่นสะเทือนเศรษฐกิจยูโรโซนให้ซบเซาอย่างหนัก ส่งผลถึงอัตราการว่างงานในอียูจาก 7% ในปี2551 เพิ่มขึ้นไปถึง 10% ในปี 2556จากการใช้จ่ายและอัตราการลงทุนในประเทศที่ชะลอตัวลง อียูจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าระหว่างประเทศไปสู่การเร่งรัดจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น

อียูได้ใช้ข้อตกลงการค้า FTA  เป็นกลยุทธ์สำคัญในการการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการของยุโรป อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของยุโรปทั้งจากตลาดเดิม และการขยายเข้าสู่ตลาดใหม่โดยเฉพาะในสินค้าและบริการที่ยุโรปเองยังมีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ รวมถึงยังช่วยให้ยุโรปสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบจากประเทศอื่นทั่วโลกมาสนองความต้องการของภาคการผลิตภายในยุโรปเองที่มีนวัตกรรมสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้า FTA จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่(Emerging economies) ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มการจ้างงาน และกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนภายในกลุ่มประเทศสมาชิกที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ที่สำคัญ โดยที่อียูเป็นตลาดขนาดใหญ่ ทำให้มีอำนาจในการเจรจาในระดับทวิภาคีสูง อียูจึงใช้ FTA เป็นเครื่องมือผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการและสอดคล้องกับค่านิยมของอียู ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขในด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนการปกป้องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานด้านแรงงาน ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการเจรจา FTA กับอียูนอกเหนือจากประเด็นด้านการค้า

สถานะภาพการเจรจา FTAของอียู

ปัจจุบันอียูทำ FTA ราว 40 ฉบับ กับเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. First generation agreements ที่อียูทำกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ก่อนปี 2549 เพื่อลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ อาทิ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เม็กซิโกชิลี สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 8 ประเทศ ประเทศในกลุ่มบอลข่าน รวมทั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) ระหว่างอียูกับตุรกี

2. Second generation agreements ซึ่งขยายขอบเขตความตกลงให้ครอบคลุมการแข่งขันทางการค้า
การบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความร่วมมือด้านต่างๆ และประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (รวมมาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม) อาทิ เกาหลีใต้ โคลัมเบีย เปรู เอกวาดอร์ ประเทศในแถบทวีปอเมริกากลาง แคนาดา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม และล่าสุด กลุ่มประเทศ Mercosur

3. Association Agreement ซึ่งรวมข้อบท Deep and Comprehensive FTA เพื่อเตรียมปฏิรูปกฎระเบียบทางการค้าให้อยู่บนพื้นฐานของกฎอียู เช่น มอลโดวายูเครน จอร์เจีย

4. Economic Partnership Agreement (EPAs) เน้นการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่กลุ่มประเทศแอฟริกาแคริบเบียน และแปซิฟิก (ACP)

ทั้งนี้ อียูมีหลักเกณฑ์ว่าประเทศใดจะทําความตกลงการค้า FTA กับอียูได้ต้องมีความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับอียู (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ซึ่งเป็นความตกลงเชิงการเมืองที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เสียก่อนจึงจะมีการลงนามในความตกลง FTA ได้

การเจรจา FTA ที่ยังคั่งค้างระหว่างอียูและประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐฯ หรือ Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) เจรจามาแล้วกว่า5ปี หากเจรจาสำเร็จ จะเป็น FTA แบบทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ขณะนี้การเจรจาหยุดชะงักไป แต่อาจกลับมาเจรจากันใหม่เร็ว ๆ นี้) ออสเตรเลีย (เจรจาไปแล้ว 4 รอบ) นิวซีแลนด์ (4 รอบ) เม็กซิโก (ใกล้แล้วเสร็จโดยอยู่ระหว่างหารือประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง) และชิลี (เริ่มเจรจาปี 2560)

FTA กับเอเซียที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (หยุดชะงักไปเมื่อปี 2557 หลังเจรจาไปแล้ว 4 รอบ) มาเลเซีย (หยุดชะงักไปเมื่อปี 2555 หลังเจรจาไปแล้ว 7 รอบ) ฟิลิปปินส์ (เจรจาไปแล้ว 2 รอบ) อินโดนีเซีย (เจรจาไปแล้ว 9 รอบ) และอินเดีย (เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2550 และยังไม่แล้วเสร็จ) นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำความตกลง
ด้านการลงทุน (Investment Agreement) กับจีน และเมียนมา อีกด้วย

FTA ที่กำลังอยู่ระหว่างการมีผลบังคับใช้ ได้แก่ สิงคโปร์ (อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายในที่จำเป็นของแต่ละฝ่ายก่อนการบังคับใช้) เวียดนาม (อยู่ระหว่างการให้สัตยาบันของรัฐสภายุโรปหลังจากได้ลงนามไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2562) Mercosur (สรุปผลการเจรจาไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลของแต่ละฝ่ายก่อนลงนามและให้สัตยาบันต่อไป) ล่าสุดอียูได้ออกมาแสดงท่าทีที่จะชะลอการให้สัตยาบันความตกลง FTA กับ Mercosur อันเนื่องมาจากปัญหาไฟป่าในเขตป่าอเมซอนซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อนโยบายของอียู

FTA กับประโยชน์ที่อียูได้รับ

จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการด้านการค้าของอียู (DG TRADE) ปี 2560 พบว่าการค้ากับประเทศนอกกลุ่มทั้งในภูมิภาคเอเซียและภูมิภาคอื่นทั่วโลกสร้างงานราว 31 ล้านงาน แก่ชาวยุโรป โดย 1 ใน 7 ของการจ้างงานในอียูมาจากการส่งออก นอกจากนั้นความตกลง FTA ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมกว่า 1,179 พันล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค้าการค้าระหว่างประเทศของอียู ดันยอดส่งออกของอียูพุ่งขึ้นโดยเฉพาะสาธารณรัฐเกาหลี (กว่า 12%) โคลัมเบีย (กว่า 10%) แคนาดา (7% ภายในเวลา 9 เดือนหลังจากความตกลงมีผลบังคับ) โดยสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการอียูได้รับประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกเป็นอันดับต้น โดยเฉพาะ เอกวาดอร์ (กว่า 34%) ชิลี (กว่า 29%) เซอร์เบีย (กว่า 23%) ตุรกีและคอสตาริกา(กว่า 14%) รวมทั้งเป็นการเปิดตลาดให้สินค้าทางการแพทย์และเกษตรเคมีจากอียูในตลาดเม็กซิโก ตลอดจนการส่งสินค้าพวกเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์นมไปขายในชิลีและเปรู และเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐบาลประเทศจอร์เจีย มอลโดวา และยูเครน

FTA กับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยุโรปและมาตรการรองรับ

เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีกำหนดให้ประเทศอื่น ๆ เปิดตลาดให้กับอียู อียูเองก็จำเป็นต้องเปิดตลาภายในประเทศเป็นการแลกเปลี่ยนให้กับสินค้าจากประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน  โดยยกเว้นหรือลดอัตราอากรขาเข้า ทำให้อียูมีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่เจรจานั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น แม้การเปิดตลาดส่งผลดีต่อผู้บริโภคชาวยุโรปรวมถึงภาคธุรกิจ ทำให้สามารถซื้อสินค้านำเข้าเพื่อบริโภคหรือเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในราคาที่ถูกลงก็ตามแต่ย่อมจะส่งผลกระทบทางลบต่อบางอุตสาหกรรมอยู่บ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในกรณี Brexitซึ่งเกิดขึ้นจากพลังทางการเมืองของคนชั้นกลางและชั้นล่างที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และตกเป็นฝ่ายสูญเสียจากอิทธิพลเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)

ในเรื่องนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดสรรกองทุน FTA ซึ่งเป็นเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการกองทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในการปรับตัว นอกจากนั้น อียูยังให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อได้เปรียบ เสียเปรียบ ประโยชน์ หรือผลกระทบที่จะได้รับจากการทำความตกลง FTA และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาที่รอบคอบมากที่สุดก่อนเริ่มเจรจา เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงเพิ่มการชี้แจง และการรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาและร่างความตกลงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยภายหลังจากการเจรจาแล้วเสร็จ จะทำการติดตามผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ FTA และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อศึกษาโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าต่อไป

 

*******************************************

อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648135