Brexit: การเตรียมความพร้อมของสหภาพยุโรป/ปฏิกิริยาของสหภาพยุโรปต่อพัฒนาการในสหราชอาณาจักร

Brexit: การเตรียมความพร้อมของสหภาพยุโรป/ปฏิกิริยาของสหภาพยุโรปต่อพัฒนาการในสหราชอาณาจักร

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 882 view

Brexit: การเตรียมความพร้อมของสหภาพยุโรป/ปฏิกิริยาของสหภาพยุโรปต่อพัฒนาการในสหราชอาณาจักร

          เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เผยแพร่เอกสารการเตรียมความพร้อมฉบับที่ 6 (เข้าถึงได้ที่ http://bit.ly/2m28trd) พร้อมทั้ง checklist สำหรับภาคธุรกิจที่ทำธุรกิจกับสหราชอาณาจักรใช้ในการเตรียมความพร้อมก่อน Brexit ซึ่งในส่วนของเอกสารการเตรียมความพร้อม สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          สหภาพยุโรปมีความพร้อมสำหรับ Brexit ในทุกรูปแบบ รวมถึงกรณี No Deal Brexit โดยมาตรการรองรับทางกฎหมาย 19 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบครบหมดแล้ว นอกจากนี้ยังออกมาตรการรองรับที่มิใช่กฎหมาย 63 ฉบับ และข้อมูลการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ 100 ฉบับ แม้สหภาพยุโรปจะขยายเวลา Brexit จากเดิมเป็น 31 ตุลาคม 2562 แต่ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการรองรับใหม่เพิ่มเติม มีเพียงการขยายเวลาของบางมาตรการให้เหมาะสมกับกำหนด Brexit ใหม่ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างเสนอคณะมนตรียุโรปรับรองการขยายเวลาบางมาตรการ ดังนี้ (1) ภาคการขนส่ง ขยายกฎระเบียบเรื่องการขนส่งและการโดยสารทางถนนออกไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2563 และกฎระเบียบเรื่องสิทธิการบินออกไปจนถึง 24 ตุลาคม 2563 (2) ภาคประมง ขยายกฎระเบียบเรื่องการทำประมงในน่านน้ำของอีกฝ่ายให้ครอบคลุม ปี 2563 จากเดิมที่กำหนดไว้เพียงปี 2562 และ (3) งบประมาณ เปิดให้สหราชอาณาจักรและผู้รับงบประมาณในสหราชอาณาจักรสามารถมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ที่ใช้งบประมาณของสหภาพยุโรปต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 2563  โดยมีข้อแม้ว่าสหราชอาณาจักรต้องยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดในกฎระเบียบจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับปี 2563 ตามพันธกรณีของสหราชอาณาจักรและอนุญาตให้หน่วยงานของ      สหภาพยุโรปตรวจสอบการดำเนินโครงการ

          นอกจากการขยายเวลาสำหรับบางมาตรการแล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปยังเสนอให้ใช้ประโยชน์จากกองทุน European Solidarity Fund และกองทุน European Globalisation Adjustment Fund ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกและผู้ที่ตกงาน   อันเป็นผลมาจาก No Deal Brexit คณะกรรมาธิการยุโรป จะทำงานร่วมกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์อย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อเตรียมมาตรการรองรับที่จะรักษาเสถียรภาพของตลาดร่วมยุโรปในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของความตกลง Good Friday ที่ต้องการหลีกเลี่ยง hard border ระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ

          ย้ำหลักการที่ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเคยแถลงต่อสภายุโรปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ว่า ในกรณี No Deal Brexit สหราชอาณาจักร ต้องดำเนินการ 3 เรื่องก่อนที่สหภาพยุโรปจะพิจารณาจัดทำความตกลงทวิภาคีสำหรับอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร กล่าวคือ (1) คุ้มครองสิทธิพลเมือง/เสรีภาพในการเคลื่อนย้าย (2) ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการเงิน และ (3) หาทางออกสำหรับประเด็นเขตแดนสาธารณรัฐไอร์แลนด์-ไอร์แลนด์เหนือที่สอดคล้องกับ      ความตกลง Good Friday และรักษาเสถียรภาพของตลาดร่วมยุโรป

          ทั้งนี้ การเผยแพร่เอกสารการเตรียมความพร้อมของสหภาพยุโรปนั้น ออกมาในช่วงเดียวกับความเคลื่อนไหวในรัฐสภา  สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะท่าทีของนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรที่ยืนยันจะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า เป็นความพยายามของสหราชอาณาจักรที่จะใช้ความหวาดกลัว No Deal Brexit ในการข่มขู่สหภาพยุโรป เพื่อให้ยอมกลับมาเจรจาประเด็นทางออกสำรองสำหรับการจัดการเขตแดนสาธารณรัฐไอร์แลนด์-ไอร์แลนด์เหนือ (backstop solution) ซึ่งไม่ได้ผล เพราะการประเมินของทุกฝ่ายรวมทั้งรายงานล่าสุดของสหราชอาณาจักรชี้ว่า สหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบจาก No Deal Brexit มากกว่าสหภาพยุโรป ทั้งนี้นาย Michel BARNIER หัวหน้าคณะเจรจาของสหภาพยุโรปและนาง Mina ANDREEYA โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปต่างยืนยันผ่านสื่อ (บทบรรณาธิการ The Sunday Telegraph ในกรณีนาย Barnire และการตอบคำถามสื่อในช่วงการแถลงข่าวประจำสัปดาห์     ในกรณีนาง Andreeva) ว่า ท่าทีของสหภาพยุโรป  ในเรื่อง backstop ยังคงเดิมและจะไม่มีการเจรจาความตกลงถอนตัวใหม่

 

*****************************************************