สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เชิญครูฟินแลนด์มาสาธิตวิธีการสอนหนังสือตามแนวทางของฟินแลนด์ ในโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์ ครั้งที่ ๓ ณ จังหวัดขอนแก่น

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เชิญครูฟินแลนด์มาสาธิตวิธีการสอนหนังสือตามแนวทางของฟินแลนด์ ในโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์ ครั้งที่ ๓ ณ จังหวัดขอนแก่น

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 602 view

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ เชิญครูฟินแลนด์มาสาธิตวิธีการสอนหนังสือตามแนวทางของฟินแลนด์
ในโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์ ครั้งที่ ๓ ณ จังหวัดขอนแก่น

 

          เมื่อวันที่ ๑๙-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับฟินแลนด์ ครั้งที่ ๓ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยเชิญครูฟินแลนด์จากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมือง Vihit ๓ คน ได้แก่ นาง Saara Marvala ครูระดับการศึกษาก่อนเข้าเรียน (pre-school) นาง Laura Sinnemäki ครูระดับประถมศึกษา และนาง Pirjo Leväniemi ครูระดับมัธยมศึกษา มาสาธิตวิธีการสอนหนังสือตามแนวทางของฟินแลนด์ให้แก่ครูโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในภาคตะวันออกฉียงเหนือ ๒๐ จังหวัดเพื่อให้มีการนำเทคนิค วิธีการจัดการเรียนการสอนของฟินแลนด์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

         คณะครูฟินแลนด์ได้ร่วมกันบรรยายสรุปเกี่ยวกับภาพรวมของระบบการศึกษาของฟินแลนด์ แนวคิดการเรียนการสอน รวมถึงบทบาทหน้าที่ครูฟินแลนด์ ให้แก่ครูไทยที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังจัดการสัมนาเชิงปฏิบัติการโดยแบ่งตามระดับชั้นเรียนได้แก่ ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา โดยการสาธิตวิธีการสอนตามแนวทางของฟินแลนด์และประดิษฐ์สื่อการสอนที่ทำจากอุปกรณ์ที่หาได้ในโรงเรียนและท้องถิ่น ทั้งนี้ การสอนของคณะครูฟินแลนด์เน้นทั้งด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิตของเด็ก อาทิ การสอนให้เด็กเห็นว่าการเรียนหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก เน้นการปฏิบัติเป็นหลักและให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อให้เกิดการเข้าใจอย่างแท้จริง รวมทั้งสอนให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีความกล้าแสดงออก ปลูกฝังความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายในสังคม และให้เด็กรู้เท่าทันสถานการณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ คณะครูฟินแลนด์ยังแนะนำเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนของนักเรียนว่าควรเป็นไปอย่างเหมาะสม ใช้คำพูดที่สร้างสรรค์และไม่บั่นทอนกำลังใจของนักเรียน รวมทั้งยังให้เด็กประเมินศักยภาพและความสามารถในการเรียนรู้ของตนเองด้วย

        อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมสัมมนตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการเลื่อนวิทยฐานะของส่วนกลางทำให้ครูไทยใช้เวลานานกับการทำเอกสารเพื่อเสนอขอปรับระดับ ซึ่งต่างจากครูฟินแลนด์ที่จะปรับระดับขึ้นตามประสบการณ์และระยะเวลาการทำงาน ทำให้มีเวลาในการเตรียมการสอนหนังสือและทำการวิจัยเพื่อปรับปรุงการสอนหนังสือของตนเอง นอกจากนี้ คณะครูฟินแลนด์ยังแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่ปลูกฝังค่านิยมให้เด็กไทยไม่กล้าแสดงออก โดยให้ปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และแนะนำว่าผู้ปกครองและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรแทรกแซงหรือกดดันการทำงานของครู

        ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-ฟินแลนด์ ครั้งต่อไป จะจัดที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กันยายน ๒๕๖๒

*   *   *   *   *

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ