สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการปกป้องตลาดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม

สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการปกป้องตลาดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 744 view

 สหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานการปกป้องตลาดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 สหภาพยุโรปได้ออกรายงานประจำปีเรื่องการปกป้องตลาดสหภาพยุโรปจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยในรายงานประจำปี 2561 ระบุว่า สหภาพยุโรปได้ปฏิรูปกฎระเบียบด้านการปกป้องตลาดเพื่อให้สามารถรับมือกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการสอบสวนและดำเนินมาตรการตอบโต้ และมาตรการปกป้องตลาดต่าง ๆ

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ดำเนินการมาตรการดังกล่าวรวม 135 กรณี แบ่งเป็นมาตรการตอบโต้  การทุ่มตลาด 120 กรณี มาตรการตอบโต้การอุดหนุนภาครัฐ 12 กรณี และการปกป้องตลาด 3 กรณี ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าจากประเทศที่สหภาพยุโรปดำเนินมาตรการลดลงอย่างชัดเจน เช่น การนำเข้ากระดาษเคลือบจากจีนสู่ตลาดสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 99 และข้าวโพดหวานจากไทย ลดลงร้อยละ 62 เป็นต้น

กว่า 2 ใน 3 ของมาตรการตอบโต้ หรือมาตรการปกป้องตลาดต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปเป็นการดำเนินการกับประเทศหลัก ๆ เช่น จีน รวม 91 กรณี รัสเซีย 9 กรณี อินเดีย 7 กรณี และสหรัฐฯ 6 กรณี สำหรับไทยมีกรณีทุ่มตลาด 2 กรณี คือ ท่อเหล็กและข้าวโพดหวาน ซึ่งปัจจุบันครบกำหนดการใช้มาตรการตอบโต้แล้ว และสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะขยายหรือยกเลิกมาตรการตอบโต้

นอกจากการปกป้องผู้ผลิตสหภาพยุโรปจากสินค้านำเข้าผ่านมาตรการภายในต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว สหภาพยุโรปยังใช้กระบวนการขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 WTO ยืนยันคำตัดสินกรณีบริษัท Boeing ได้รับการอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ตามคำฟ้องของสหภาพยุโรปเมื่อปี 2555 และล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายน ๒๕๖๒ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เริ่มกระบวนการฟ้องอินเดียและตุรกี ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO กรณี (1) อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบางรายการ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ สถานีข่าย ฯลฯ ตั้งแต่ร้อยละ 7.5-20 และ(2) ตุรกีบังคับให้บริษัทยาต่างชาติต้องย้ายโรงงานไปตั้งในตุรกีและปฏิบัติตามเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ยาถูกบรรจุในรายการยาที่ผู้ป่วยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากรัฐได้

ในทางกลับกัน สหภาพยุโรปก็พยายามแทรกแซงการใช้มาตรการการปกป้องตลาดของประเทศอื่น ๆ ที่มีต่อผู้ส่งออกของสหภาพยุโรป หรือใช้มาตรการปกป้องของตนเอง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการปกป้องของประเทศอื่น (เช่น กรณีสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มเติม) หรืออ้างว่า เป็นการดำเนินการค้าแบบพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศและส่งเสริมกลไกของ WTO โดยมิได้มองว่ามาตรการเหล่านี้เข้าข่ายเป็นการใช้มาตรการปกป้องตลาดอย่างไม่เป็นธรรม (abuse of trade defense)

 

****************************************